รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 ตุลาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2018 14:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 61 หดตัวที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 61 หดตัว ร้อยละ -5.5 จากเดือนก่อนหน้า
  • ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค.61 อยู่ที่ระดับ -2.7 จุด
  • เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.ย. 61 มีมูลค่า 20,699.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการกลับมาหดตัวครังแรกในรอบ 19 เดือน ที่ร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -10.5 จากเดือนก่อนหน้าโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินค้าทองคำด้านปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนและสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบที่หดตัวในเดือนดังกล่าว หากมองในมิติของตลาดส่งออกในเดือน ก.ย. 61 พบว่า ยังขยายตัวได้ดีในตลาด CLMV สหรัฐฯ สหภาพยุโรป(15) และเกาหลีใต้ ขณะที่ตลาดที่หดตัว ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ จีน ทวีปออสเตรเลีย และไต้หวัน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 9 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ย. 61 มีมูลค่า 20,212.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -10.2 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าหมวดเชื้อเพลิง วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 9 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 61 เกินดุลที่มูลค่า 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 61 ยังคงเกินดุลมูลค่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ก.ย. 61 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ ร้อยละ 3.8 และ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่หมวดประมงหดตัวร้อยละ -11.5 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ไข่ไก่และไก่เนื้อ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -3.3 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ก.ย. 61 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญ หมวดประมง และหมวดปศุสัตว์ หดตัวที่ร้อยละ -5.6 -20.9 และ -4.8 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเนื่องจากตลาดมีความต้องการข้าวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ไข่ไก่เนื่องจากปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดน้อย และมันสำปะหลังเนื่องจากเป็นช่วงที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกฤดูใหม่ ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพาราจากปริมาณยางออกสู่ตลาดมากขึ้นและภาวะการค้าชะลอตัว ปาล์มน้ำมันเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -5.5 จากเดือนก่อนหน้า หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 จากการหดตัวอย่างมากของยอดขายบ้านในแถบตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast) ที่หดตัวร้อยละ -40.6 สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวกว่าร้อยละ 33.3 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 จากการขยายตัวชะลอลงของเครื่องมือด้านการขนส่ง

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ -2.7 จุด แม้จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -2.9 จุดแต่อยู่ในแดนลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด จากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตที่ขยายตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 46 เดือน สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ต.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 53.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด จากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตที่ขยายตัวชะลอลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ต.ค. 61 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 25 เดือนที่ 52.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.1 จุด

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระดับที่เกือบต่ำสุดในปี 61 รองจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 โดยระดับราคาสินค้าหมวดการสื่อสารและนันทนาการและวัฒนธรรมสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ราคาหมวดขนส่งลดลงมาก ขณะที่ระดับราคาหมวดอื่นๆ ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.1 โดยผลผลิตหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -2.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดค้าส่งหดตัวถึงร้อยละ -4.2

Japan: improving economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด จากดัชนีหมวดยอดคำสั่งซื้อใหม่ ผลผลิต และการจ้างงานที่เร่งตัวขึ้น

South Korea: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 52 ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานปี 60 ที่สูง (ไตรมาสที่ 3 ปี 60 GDP ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี 2 เดือน) โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ -1.1 จากร้อยละ -0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์โทรคมนาคมและพาหนะอื่นๆ หดตัวถึงร้อยละ -31.0 และร้อยละ -45.4 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 61 หดตัวร้อยละ -1.6 โดยการนำเข้าเครื่องจักรหดตัวถึงร้อยละ -15.9 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 61 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 61

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยราคาสินค้าเกือบทุกหมวดคงที่หรือเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ยกเว้นดัชนีราคาหมวดเสื้อผ้าที่ชะลอลงมากจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 และราคาหมวดการศึกษาปรับขึ้นจากร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 2.9 อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 3 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.0 ต่อกำลังแรงงานรวม ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 61 หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.2 ถือเป็นการหดตัวต่ำสุดในปี 61 เป็นผลจากการหดตัวของผลผลิตสินค้าหมวดเครื่องหนังและรองเท้า และหมวดสินค้าที่ไม่ใช่แร่โลหะที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ อาทิ DJIA (สหรัฐฯ) HSI (ฮ่องกง) นิกเคอิ (ญี่ปุ่น) และ KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลประเด็นสงครามการค้าที่ทำท่าว่าจะยืดเยื้อ ตลอดจนความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ส่งผลต่อการไหลออกของเงินทุน โดยดัชนี SET ณ วันที่ 25 ต.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,644.33 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 22-25 ต.ค. 61 ที่ 60,715 ล้านบาทต่อวัน จากแรงขายของนักลงทุนนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ซึ่งจะรายงานในคืนวันที่ 26 ต.ค. 61 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -8,151 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-4 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 3.15 เท่าของวงเงินประมูล นอกจากนี้ การประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 2 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 4.96 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนีระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,194 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 25 ต.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.99 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินเยน แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.79

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ