รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 27, 2018 14:37 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนต.ค. 61 มีจำนวน 2.71 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 92.6
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 36.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 19.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 61 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐบาล ในขณะที่การส่งออกชะลอตัว ในด้านการผลิต การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการผลิตภาคเกษตร สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาขนส่งและการคมนาคมชะลอตัว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ต.ค. 61 มีจำนวน 2.71 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.51 ต่อปี และหดตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล โดยเป็นผลจากการหดตัวต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญอย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 22.4 ต่อปี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ลาว กัมพูชา และญี่ปุ่น ขยายตัวได้ดีเช่นกัน ทั้งนี้ ส่งผล ทำให้เดือน ต.ค. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 141,061 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.66 ต่อปี

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.5 ในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่เป็นสำคัญ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี และการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งให้ลดลง รวมถึงการผ่านช่วงมรสุมทำให้สามารถมีการขนส่งสินค้าทางเรือได้ตามปกติ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 106.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.1 ในเดือน ก.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าปัจจัยจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนาดย่อม ยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 61 มีจำนวน 32,805 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 22 นับตั้งแต่มกราคม ปี 60 ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 61 มีจำนวน 54,126 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 36.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัวร้อยละ 0.05 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทำให้ 10 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 18.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 61 มีมูลค่า 21,757.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 11.9 จากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกที่ขยายตัวเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น อินเดีย อาเซียน 5 และ CLMV เป็นสำคัญ ส่วนตลาดหลักอย่างสหรัฐฯและจีนก็กลับมาขยายตัวในระดับดีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ การส่งออกในมิติของสินค้า พบว่า สินค้ายังขยายตัวได้ดี เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาล ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 10 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ต.ค. 61 มีมูลค่า 22,037.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 3.4 จากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง นำโดยสินค้าหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดเชื้อเพลิงพลังงาน และสินค้าทุน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 10 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในด้านดุลการค้าในเดือน ต.ค. 61 ขาดดุลเล็กน้อยที่มูลค่า 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 61 ยังคงเกินดุลมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.5 จากยอดสร้างบ้านแบบทาวน์โฮมส์และคอนโดมิเนียม ที่ขยายตัวร้อยละ 233.3 และ 6.2 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 61 หดตัวร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่แบบทาวน์โฮมส์และบ้านเดี่ยวหดตัวร้อยละ -5.0 และ -0.6 ตามลำดับ ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 5.2 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -2.7 และ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 255,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -0.5 และ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ

Japan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าเกือบทุกหมวดที่เร่งขึ้น ขณะที่การส่งออกสินแร่และเชื้อเพลิงขยายตัวชะลอลง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 19.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัวลง ขณะที่สินแร่และเชื้อเพลิงชะลอลง ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน ต.ค. 61 ที่ 4.5 แสนล้านเยน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาหมวดอาหารและเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.4 และ 4.4 ตามลำดับ

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ -3.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -2.7 จุด และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ -3.0 โดยดัชนีฯ ในเดือนนี้อยู่ในแดนลบเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และมีค่าน้อยที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 28 ดัชนีฯ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ -11.7 โดยขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดที่ 2.0 ในเดือน พ.ค. 43 และต่ำสุดเดือน มี.ค. 52 ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ -34.7 จุด ดังนั้น ดัชนีฯ เดือน พ.ย. นี้ จึงเป็นระดับที่ยังไม่น่าสร้างความกังวลให้กับตลาดอย่างเป็นรูปธรรม

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยราคาสินค้าหมวดที่อยู่อาศัย เครื่องดื่ม ไฟฟ้า ขนส่ง ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.1 3.5 4.2 และ 1.6 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องแต่งกายชะลอตัวลงที่ร้อยละ 3.2 และ 2.0 ตามลำดับ

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยระดับราคาสินค้าหมวดอาหารและหมวดที่ไม่ใช่สินค้าคงทนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ร้อยละ 1.3 และ 0.2 ตามลำดับ

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในปี 61 จากภาคการบริโภคภาคเอกชน การลงทุน และการส่งออกที่หดตัวที่ร้อยละ 3.4 -1.4 และ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยระดับราคาหมวดเสื้อผ้าขยายตัวชะลอลงร้อยละ 1.4 ในขณะที่หมวดการสื่อสารหดตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ -1.2

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยมีประชากรว่างงานประมาณ 446,000 คน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่81.95 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 83.47 จุด เนื่องจากดัชนีย่อยหมวดตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาก และแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) CSI300 (จีน) และ KOSPI (เกาหลีใต้) เป็นต้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความตึงเครียดของประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบลง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกันในการประชุม APEC Summit ที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงค่อนข้างมากในช่วงต้นสัปดาห์ โดยดัชนี SET ณ วันที่ 22 พ.ย. 61 ปิดที่ระดับ 1,604.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 19-22 พ.ย. 61 เพียง 37,128 ล้านบาทต่อวัน โดยที่นักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการประชุม EU Summit ในวันที่ 25 พ.ย. 61 สำหรับการเจรจาระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรในประเด็น Brexit และการประชุม G20 ในวันที่ 30 พ.ย.- 1 ธ.ค. 61 โดยเฉพาะประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,774 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 0-11 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปี และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 4.69 และ 3.53 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 8,983 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 22 พ.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.18 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลหลักอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.46

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ