รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 3 - 7 ธันวาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 12, 2018 15:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ต.ค. 61 เกินดุล 1,887.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 41.72 ของ GDP
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 67.5
  • GDP ของเกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (ปรับปรุง) ขยายตัวที่ ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอลง ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในตลาดโลกที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ราคาอาหารสดเพิ่มขึ้นจากราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งเป็นสำคัญ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 61 เท่ากับ 108.0 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.9

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. 61 เกินดุล 1,887.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,369.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้า (ตามระบบ BOP) ที่เกินดุล 1,255.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออก ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 632.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยตามการจ่ายกำไรและเงินปันผลของบริษัทข้ามชาติที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 61 เกินดุล 27,823.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 61 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ทรงตัว เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 61 มียอดคงค้าง 19.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,762.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.72 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 18.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 87.62 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.1 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน พ.ย. 61 ปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.5 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยลบจากราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการยังมีราคาต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลง สถานการณ์สงครามการค้า และการขยายตัวชะลอลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในไตรมาสที่ 3 ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 การส่งออกเดือน ต.ค. กลับมาขยายตัวเป็นบวก ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 59.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 57.7 จุด จากดัชนีหมวดการสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นหลักและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 60.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 60.3 จุด จากดัชนีหมวดการนำเข้าและหมวดกิจกรรมด้านธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลการค้าสูงสุดอย่างเป็นประวัติการณ์

China: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด จากระดับ 50.1 ดัชนี PMI ภาคบริการ (Caixin) เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.8 จุด จาก 50.8 จุดในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จุด จากระดับ 50.5 จุด ในเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (ปรับปรุง) เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง และดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน พ.ย. 61 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.3 จุด จาก ระดับ 52.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า

Eurozone: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.0 จุด ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7 จุดทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 52.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.1 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ขยายตัวเร่งขึ้นมาก

South Korea: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (ปรับปรุง) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.8 จากดัชนีย่อยในหมวดโทรคมนาคมที่ขยายตัวในอัตราที่สูง อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (ปรับปรุง) เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.7 จุดจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีฯ รวมอยู่ที่ระดับ 54.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี

Australia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ด้านดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 51.3 จุด จากทุกหมวดที่ลดลงโดยเฉพาะยอดสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวร้อยละ -10.1 ขณะที่ ดัชนีฯ ภาคบริการเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60.3 จุด จากยอดขายและยอดสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 23.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 18.7 จากหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 3.7 ร้อยล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 61 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 28

Hong Kong: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.1 จุด จากระดับ 48.6 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยในหมวดการผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวลดลง

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากราคาในหมวดครัวเรือนที่ลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 3 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.4 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากการผลิตเครื่องจักรไฟฟ้าที่หดตัว

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.1 จุดจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด

ASEAN 5: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม อาเซียน เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่

Indonesia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากราคาในหมวดอาหารและการศึกษาที่ปรับตัวลดลง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 17.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวของการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่ง และเชื้อเพลิงแร่และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.4 ทำให้เกินดุลการค้าที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.4 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากราคาสินค้าอาหารและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก

Vietnam: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 56.5 จุด สูงสุดในรอบ 7 ปีจากยอด คำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และปรับตัวลดลงช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) CSI300 (จีน) และ STI (สิงคโปร์) เป็นต้น โดยในช่วงต้น ของสัปดาห์นี้มีปัจจัยบวกสำคัญมาจากผลการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำจีนที่ได้ตกลงระงับ การตั้งกำแพงภาษีเป็นเวลาอย่างน้อย 90 วัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงหลังจากนั้นจากปัจจัยความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลง สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นที่สูงขึ้นมามากกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว ทั้งนี้ดัชนี SET ณ วันที่ 6 ธ.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,653.73 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 3 - 6 พ.ย. 61 ที่ 48,620 ล้านบาทต่อวัน โดยที่ นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 18-19 ธ.ค. 61 (ตามเวลาสหรัฐฯ) ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) ตามที่ตลาดคาดหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 3 - 6 ธ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,250 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-13 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.39 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 3 - 6 ธ.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของ นักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,835 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 6 ธ.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.26 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินยูโรอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.11

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ