รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธันวาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 2, 2019 14:19 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัว ร้อยละ 2.1 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 61 หดตัวที่ร้อยละ -0.95 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 61 มี ขยายตัวที่ร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน พ.ย. 61 ขาดดุลจำนวน 26.3 พันล้านบาท
  • GDP ของเวียดนาม ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -10.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน พ.ย. 61 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดปศุสัตว์ ร้อยละ 2.3 ขณะที่หมวดพืชผลสำคัญ และหมวดประมงหดตัว ร้อยละ -3.3 และ -17.0 ตามลำดับ โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด สุกร ไข่ไก่ และไก่เนื้อ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน พ.ย. 61 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัว ในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -2.3 และ -25.6 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากมีการชะลอการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าหลังจากความไม่แน่นอนของประเทศเศรษฐกิจหลัก ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากภาวะการค้าและการส่งออกที่ชะลอตัวลง และไก่เนื้อ เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคคงที่

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน พ.ย. 61 มีมูลค่า 69,280 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวร้อยละ 5.2 และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 15.5 ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ต่อปี

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี และหดตัวลงร้อยละ -10.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้รอบ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 14.2 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน พ.ย. 61 ปี งปม. 62 เบิกจ่ายได้ 226.3 พันล้านบาทหดตัวร้อยละ -9.6 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 199.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -9.7 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 181.4 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 18.3 พันล้านบาท หดตัว ร้อยละ -4.7 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ งบเงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม 23,054 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 20,000 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 16,755 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 4,108 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2,979 ล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน พ.ย. 61 ได้จำนวน 199.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 7.8 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 10.7 ต่อปี และจากภาษีสรรพสามิตขยายตัวร้อยละ 72.2 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน พ.ย. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 26.3 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 7.0 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 19.3 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 427.5 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า เป็นการขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นสำคัญ และกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ตามความต้องการใช้ของภาคการขนส่งตามภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่หดตัว เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า พัดลม เครื่องซักผ้า เฟอร์นิเจอร์ และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 69.4 ของกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 68.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 0.4 เป็นการขยายตัวสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -11.0 ต่อเดือน ทำให้ในรอบ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 61 มีมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -0.95 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -2.8 จากเดือนก่อนหน้าส่วนหนึ่งจากปัจจัยด้านฐานสูงและผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนซึ่งไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทาน โดยการส่งออกในมิติของสินค้า พบว่า สินค้าที่หดตัวในเดือนดังกล่าว ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ยางพารา และ น้ำตาลทราย เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น เมื่อดูในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดที่หดตัว ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง เป็นต้น ขณะที่ตลาดที่ยังขยายตัวได้ในระดับดี ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เวียดนาม และกลุ่ม CLMV เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกช่วง 11 เดือนแรกปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. 61 มีมูลค่า 22,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.6 จากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ สินค้านำเข้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าหมวดเชื้อเพลิงพลังงาน รองลงมาคือ สินค้าหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าช่วง 11 เดือนแรก ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านดุลการค้าในเดือน พ.ย. 61 ขาดดุลที่มูลค่า -1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 61 ดุลการค้าไทยยังคงเกินดุลมูลค่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีราคากลางบ้าน เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 267.9 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากดัชนีราคากลางบ้านในเกือบทุกภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าในหลายหมวด อาทิ อุปกรณ์ด้านการคมนาคม สินค้าคงทนที่ไม่รวมด้านการป้องกัน และสินค้าคงทนอื่นๆ ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายรถยนต์นั่งที่หดตัวถึงร้อยละ -11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 128.1 จุด ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวลดลง

Japan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตหมวดปิโตเลียมและถ่านหินที่หดตัวร้อยละ -5.4 ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไปและเครื่องนุ่งห่มหดตัวร้อยละ -2.9 และ -0.5 ตามลำดับ

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยมูลค่าการส่งออกแร่อโลหะหดตัวถึงร้อยละ -26.7 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมหดตัวร้อยละ -4.9 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ระดับ -4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Vietnam: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากหมวดสินค้าการค้าและการโรงแรมที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากราคาสินค้าในหมวดขนส่งและที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากมูลค่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าปิโตเลียมส่งผลให้ขาดดุลการใน เดือน ธ.ค. 61 ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -6.2 จุด ลดลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -3.9 จุด และอยู่ในแดนลบเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งตรงกับตัวเลขเบื้องต้นซึ่งออกมาเมื่อต้นเดือน พ.ย. 61

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.7 โดยระดับราคาหมวดขนส่งและการสื่อสารลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ระดับราคาสินค้าหมวดบ้านและสินค้าเบ็ดเตล็ดปรับตัวลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยผลผลิตสินค้าประเภทสิ่งทอขยายตัวเร่งขึ้นมากที่สุด ขณะที่ผลผลิตเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบขยายตัวชะลอลงมากที่สุด

South Korea: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 97.2 จุด ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 96.0 จุด ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 โดยผลผลิตหมวดสินค้าทุนเพื่อการเกษตรหดตัวถึงร้อยละ -14.7 ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 โดยยอดขายหมวดอุปกรณ์โทรคมนาคมหดตัวลงร้อยละ -14.9

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 80.1 จุด ลดลงจากที่ระดับ 82.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยผลผลิตจากภาคการผลิตชะลอตัวลง ในขณะที่ผลผลิตจากภาคเหมืองแร่หดตัวลง ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยยอดค้าส่งหดตัวถึงร้อยละ -1.6

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น FTSE100 (สหราชอาณาจักร) STOXX600 (ยุโรป) และ DAX (เยอรมนี) เป็นต้น จากหลักทรัพย์ในหมวดธุรกิจการแพทย์ หมวดธุรกิจการเกษตรและหมวดบริการรับเหมาก่อสร้างที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 27 ธ.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,548.37 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 24 - 28 ธ.ค. 61 ที่เพียง 35,201 ล้านบาทต่อวัน โดยที่นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การปิดทำการบางส่วนชั่วคราว (Government shutdown) ของสหรัฐฯ ว่าทั้งสองพรรคจะสามารถหาข้อสรุปด้านงบประมาณและทำให้หน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ กลับมาเปิดทำการอีกครั้งได้เมื่อใด รวมถึงสถานการณ์การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่องการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือน ม.ค. 62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -4,512 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น 0-3 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวปรับลดลง 2-10 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 24 - 28 ธ.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -8,371 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 27 ธ.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 32.59 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.51 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงิน ยูโรและเงินวอนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.46

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ