Executive Summary
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.68 ต่อปี
- ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.27 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.69 ต่อปี
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. 61 เกินดุล 5,026.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี
- เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 10.5 ต่อปี
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ของ GDP
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 61 ปี งปม. 62 หดตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี
- รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี
- ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ธ.ค. 61 ขาดดุลจำนวน 63.8 พันล้านบาท
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 61 มีจำนวน 3.85 ล้านคน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ 7.68 ต่อปี (และขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล) เป็นผลจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี หลังจากที่หดตัว 5 เดือนติดต่อกัน ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 61 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.74 ล้านคน ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ทำให้ทั้งปี 61 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 38.28 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือน ธ.ค. 61 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 204,024 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.26 ต่อปี และทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 61 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.01 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี
ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อเดือน ทำให้ในไตรมาส 4 ของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ม.ค. 62 เท่ากับ 107.2 หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ -4.7 ต่อปี ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 0.4 ตามความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.27 ขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลง โดยหมวดพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาจากราคาอาหารสดที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ สัตว์น้ำ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ร้อยละ 0.69
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ธ.ค. 61 เกินดุล 5,026.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,632.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากทั้งดุลการค้า (ตามระบบ BOP) และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล โดยดุลการค้าเกินดุล 2,484.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าทองคำที่ลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 2,542.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 61 เกินดุลทั้งสิ้น 37,736.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 61 มียอดคงค้าง 18.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.4 และ5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ธ.ค. 61 มียอดคงค้าง 19.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 4.5 และ5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 61 มีมูลค่า 66,061 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -5.1 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.1 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 และทั้งปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 10.5 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,833.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 24.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 87.4 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.3 ของยอดหนี้สาธารณะ
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ทั้งไตรมาสที่ 4 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ส่งผลทั้งปี 61 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัว ร้อยละ 2.8 ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นแหล่งที่มาของการขยายตัวของดัชนีฯ ทั้งปี 61 ให้ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ร้อยละ 1.7 กลุ่มอาหารร้อยละ 0.7 และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ร้อยละ 0.5 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในภาคการผลิตของไทย นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 66.9 ของกำลังการผลิตรวม โดยทั้งปี 61 อัตราการใช้กำลังการผลิต ขยายตัวร้อยละ 2.1 เป็นการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มน้ำมันปิโตรเลียม และกลุ่มเคมีภัณฑ์ เป็นสำคัญ
การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. 61 ปี งปม. 62 เบิกจ่ายได้ 269.2 พันล้านบาท หดตัว ร้อยละ -6.8 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 245.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 214.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 31.5 พันล้านบาท หดตัว ร้อยละ -12.2 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี งปม. 62 เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 963.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน ธ.ค. 61 ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 58,413 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 24,831 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ13,230 ล้านบาท งบลงทุนของทางหลวง 13,102 ล้านบาท
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. 61 ได้จำนวน 194.6 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 10.8 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี และจากการจัดเก็บรายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -44.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี งปม. 62 รายได้สุทธิหลังหักจัดสรรให้ อปท. ขยายตัวร้อยละ 7.5 ต่อปี
ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 63.8 พันล้านบาท ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 351.4 พันล้านบาท ทั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 6.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 70.2 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 379.9 พันล้านบาท
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ย. 61 หดตัวร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายรถบรรทุกขยายตัวดีขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งหดตัว ยอดขายบ้านใหม่ เดือน พ.ย. 61 อยู่ที่ 6.57 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 16.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบมิดเวสต์ และภาคใต้ ที่ขยายตัวสูงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 120.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อน จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวลดลง และเมื่อวันที่ 29-30 ม.ค. 62 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติ 10-0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี
ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าทั่วไปที่หดตัวลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 41.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตเกือบทุกหมวดหดตัว อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ปรับปรุง) เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน จากยอดคำสั่งซื้อใหม่และความเชื่อมั่นของธุรกิจลดลงต่อเนื่อง
GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ GDP ทั้งปี 61 ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากร้อยละ 2.5 ในปีก่อน อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยอัตราการว่างงานในอิตาลีและสเปนปรับลดลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากระดับราคาพลังงานที่ลดลง
ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน โดยยอดขายรถยนต์ขยายตัวในอัตราสูง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอตัวลงและราคาหมวดขนส่งหดตัว มูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ - 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปจีนยังคงหดตัวเร่งขึ้น ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.3 จุด ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวลดลง
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยดัชนีย่อยหมวดการส่งออกและการผลิตปรับตัวสูงขึ้นขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย Caixin เดือนเดียวกันอยู่ที่ระดับ 48.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตและยอดงานใหม่ปรับตัวลดลง
มูลค่าการส่งออกเดือน ธ.ค. 61 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ - 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ หดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน เดียวกันหดตัวร้อยละ -7.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ในเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ขาดดุลการค้า 51.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยยอดขายอาหารชะลอตัวลง ในขณะที่ยอดขายสินค้าคงทนหดตัวเร่งขึ้น
มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.0 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายในภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวลง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกไม้ และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ขยายตัวชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลงส่งผลให้ขาดดุลการค้า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าหมวดขนส่งที่ลดลง
GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง ส่งผลให้ GDP ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ดัชนี PMI ภาค อุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด ต่ำสุดในรอบ 40 เดือน โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตและธุรกิจใหม่ปรับตัวลดลง
อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 4 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยราคาหมวดค่าเช่าบ้านชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 52.5 จุด จากหมวดการผลิต คำสั่งซื้อใหม่และการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตและยอดสั่งซื้อเร่งตัวขึ้น
ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น S&P500 (สหรัฐฯ) JCI (อินโดนีเซีย) และ MSCI (เอเชียแปซิฟิก) เป็นต้น หลังจากที่ปัจจัยภายนอกเริ่มคลี่คลาย อาทิ กรณีการปิดทำการบางชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ยุติลง และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตามที่ตลาดคาด ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 31 ม.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,641.73 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค. 62 ที่ 51,679 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,095 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-5 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาว ปรับลดลง 1-4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28-31 ม.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -10,049 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 31 ม.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.53 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.69
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th