รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4 - 8 กุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 12, 2019 13:46 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 67.7
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของอินโดนีเซีย ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของสิงคโปร์ ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทยในเดือน ม.ค. 62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 66.3 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 67.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน เนื่องจากความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้ง สถานการณ์สงครามการค้าเริ่มคลี่คลายลง และการที่นักท่องเที่ยวจีน เริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น หลังจากที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรม Visa on Arrival ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อในปัจจุบันฟื้นตัวดีขึ้น

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนม.ค. 62 มีจำนวน 161,885 คัน คิดเป็นการหดตัว ร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัว ร้อยละ -4.6 โดยเป็นการหดตัวในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -4.2 เป็นสำคัญ ขณะที่ในเขต กทม. ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.4

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 56.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.3 จุด จากดัชนีย่อยในหมวดคำสั่งซื้อใหม่และหมวดการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 56.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 58.0 จุด จากดัชนีย่อยในหมวดสินค้าคงคลังที่ลดลงมากที่สุด ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าในหมวดสำคัญที่ชะลอลงเกือบทุกหมวด เช่น หมวดอาหาร อาหารสัตว์ และเครื่องดื่ม หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น และมูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าในหมวดเทคโนโลยีที่หดตัวถึงร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน พ.ย. 61 ที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด จากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่งที่ 51.0 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากทั้งยอดค้าปลีกทั้งอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารที่ขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ยอดค้าปลีกทั้งปี 61 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน โดยระดับราคาในหมวดอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกี่ยวกับการขนส่งปรับตัวลดลง เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 61 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี

Australia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ม.ค. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 จุด จากยอดขายที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 18.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเกือบทุกหมวดที่หดตัว โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคส่งผลให้เกินดุลการค้า 7.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนหดตัวลง เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 62 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 30

Japan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ม.ค. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.6 จุด จากการผลิตที่ขยายตัวจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดส่งออกลดลง

Hong Kong: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.2 จุด จากระดับ 48.0 จุดในเดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสินค้าคงเหลือเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 ยังคงสะท้อนถึงอุตสาหกรรมภาคการผลิตที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ม.ค. 62 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 50.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด จากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับชะงักงัน

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 61 โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นจากการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ทั้งปี 61 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 125.5 จุด ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 127.0 จุด จากความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน รายได้ปัจจุบัน และการจ้างงานที่ลดลง

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนี PMI เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและผลผลิตที่ลดลง

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.7 จุด ถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน จากยอดคำสั่งซื้อใหม่และการส่งออกสุทธิที่ลดลง

India: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ม.ค. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จุด จากยอดสั่งซื้อใหม่ที่ลดลงเป็นเดือนที่ 4 และกิจกรรมทางธุรกิจชะลอตัวลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) JCI (อินโดนีเซีย) และ MSCI (เอเชียแปซิฟิก) เป็นต้น โดยที่ดัชนี SET มีปัจจัยสนับสนุนจากบรรยากาศทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 7 ก.พ. 62 ปิดที่ระดับ 1,653.11 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ. 62 ที่เพียง 36,434 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยออกมาในเร็วๆ นี้ และความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะสามารถหาทางออกที่ประนีประนอมกันได้หรือไม่ภายในวันที่ 1 มี.ค. 62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 854 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-2 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาว ปรับลดลง 1-4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 3,904 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 7 ก.พ. 62 เงินบาทปิดที่ 31.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.12 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่อ่อนค่าลง อาทิ เยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินริงกิตและวอนแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.32

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ