Executive Summary
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 93.8
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนม.ค. 62 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวที่ ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ ร้อยละ 6.0 ต่อปี
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่ 2 ปี 61 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการนำเข้าขยายตัวชะลอลง ในด้านการผลิต ผลผลิตภาคเกษตรชะลอตัวตามผลผลิตพืชหลัก ส่วนภาคนอกเกษตรขยายตัวเร่งขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
มูลค่าการส่งออกในเดือน ม.ค. 62 มีมูลค่า 18,994 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาปัจจัยหลายประการประกอบกัน อาทิ ภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัว อุปสงค์ประเทศคู่ค้าบางประเทศที่ปรับตัวลดลง และข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังยืดเยื้อส่งผลต่อการชะลอคำสั่งซื้อ เป็นต้น ในมิติสินค้า พบว่า สินค้าที่ขยายตัวได้ดีได้แก่ กลุ่มผักผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป นาฬิกาและส่วนแระกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ กลุ่มสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมฯ เป็นต้น ในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า การส่งออกยังยังกลุ่มตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ หดตัว
มูลค่าการนำเข้าในเดือน ม.ค. 62 มีมูลค่า 23,026 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้านำเข้าสำคัญในเดือนดังกล่าวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าหมวดเชื้อเพลิงพลังงาน และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เป็นสำคัญ จากมูลค่าการนำเข้าที่มากกว่ามูลค่าการส่งออก ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 62 ขาดดุลที่มูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.2 ในเดือน ธ.ค. เป็นการปรับเพิ่มเนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศที่ดี และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการผลิตในส่วนภูมิภาค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.9 ในเดือน ธ.ค. เนื่องจากผู้ประกอบมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อันจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทย
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยเป็นผลจากการขยายตัวได้ดีของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 10.3 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และไต้หวันที่ขยายตัวร้อยละ 24.9 และ 31.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้เดือน ม.ค. 62 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 195,847 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 30,221 คัน ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 15.0 จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 62 มีจำนวน 47,840 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามการขยายตัวของรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวได้ดีร้อยละ 21.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน ตามความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับภาคการก่อสร้าง
Global Economic Indicators: This Week
ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดคำสั่งซื้อสินค้าหมวดเครื่องจักรและหมวดอื่นๆ ที่หดตัวร้อยละ -0.9 และ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านยอดขายบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 4.9 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -9.3 และ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 247,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -2.7 และ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวในหลายหมวดที่ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อาทิ หมวดพลังงาน หมวดสินค้าวัตถุดิบ และหมวดสินค้าขั้นสุดท้ายและวัสดุที่ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.5 จากสินค้าส่งออกใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ม.ค. 62 เกินดุล 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน ธ.ค. 61 ที่ 1.7 หมื่นล้านยูโร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -7.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -7.9 จุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.2 จุดจากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอลง ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.5 จุดจากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมภาคธุรกิจที่เร่งขึ้น ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน ก.พ. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0 จุด
มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.9 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนหดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า -1.42 ล้านล้านเยน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ก.พ. 62 แตะระดับต่ำสุดในรอบ 32 เดือนที่ระดับ 48.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด จากผลผลิตและยอดสั่งซื้อใหม่ลดลง และคาดการณ์ผลผลิตเป็นลบครั้งแรกตั้งแต่เดือน พ.ย. 54 ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาอาหารที่หดตัวร้อยละ -11.1 ขณะที่ดัชนีราคาหมวดเชื้อเพลิงและนันทนาการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 และ 1.5 ตามลำดับ
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงอัตราฯ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 61 ที่ผ่านมา
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยระดับราคาสินค้าเกือบทุกประเภทลดลง ยกเว้นสินค้าเกี่ยวกับการสื่อสารและสินค้าคงทนที่ราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 ถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 21 ปี
ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากการค้าปลีกประเภทที่ไม่มีหน้าร้าน (NonStore Retailing) ที่ขยายตัวดี อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่ทศวรรษ 1970
อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยจำนวนคนที่หางาน Part Time ลดลง และเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 62 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 30
ดัชนี SET ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์และปรับเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DAX (เยอรมนี) HSI (ฮ่องกง) และ JCI (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 21 ก.พ. 62 ปิดที่ระดับ 1,647.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 ที่ 45,748 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะส่งสัญญาณประนีประนอมตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 7,066 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0-5 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.56 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18-21 ก.พ. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -7,774 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 ก.พ. 62 เงินบาทปิดที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.69 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินริงกิต และวอนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.36
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th