รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2019 14:23 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2562 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สามารถกลับมาขยายตัว ในขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว สำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี สูงสุดในรอบ 7 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2562 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2562 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สามารถกลับมาขยายตัว ในขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี สูงสุดในรอบ 7 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี” โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวได้ดีที่ระดับร้อยละ 17.4 ต่อปี คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 67.7 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ดีขึ้น การเลือกตั้งในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 โดยขยายตัวได้ดีตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ก็ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี จากการขยายตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ร้อยละ 17.0 ต่อปี ขณะที่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2562 หดตัวที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ -4.7 ต่อปี ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -5.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ยังคงขยายตัว ทั้งนี้ สินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 23.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี ทั้งนี้ ถ้าหักสินค้าที่มีความผันผวนสูงมูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2562 ขาดดุลจำนวน 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดประมง และหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 6.4 0.4 และ 1.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความเห็นว่า สถานการณ์การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 10.3 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และไต้หวัน ที่ขยายตัวร้อยละ 24.9 และ 31.0 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือนมกราคม 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 195,847 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในภาคการเกษตรอันเนื่องมาจากการปลูกยางลดลง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรกลับมีการจ้างงานดีขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 209.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2562 ได้รับแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์สามารถกลับมาขยายตัว ในขณะที่ด้านอุปสงค์ภายนอกประเทศ พบว่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวสำหรับด้านอุปทาน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวเป็นบวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี สูงสุดในรอบ 7 เดือน อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน และดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวได้ดี”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2562 ที่กลับมาขยายตัวได้ดีที่ระดับร้อยละ 17.4 ต่อปี คิดเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 15.0 ต่อเดือน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเดือน และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 67.7 ปรับตัวสูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกมาจากสถานการณ์สงครามการค้าที่ดีขึ้น การเลือกตั้งในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น และการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 และขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยขยายตัวได้ดีตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนมกราคม 2562 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 5.5 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล จากการขยายตัวในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ร้อยละ 17.0 ต่อปี ขณะที่ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนมกราคม 2562 หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ -4.7 ต่อปี ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนมกราคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 304.9 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 286.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 256.4 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 30.1 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 18.4 พันล้านบาท ทำให้ในปีงบประมาณ 2562 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 1,179.5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,074.1 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 105.3 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 89.1 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาส่งสัญญาณชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -5.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี การส่งออกในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และ CLMV ยังคงขยายตัว ทั้งนี้ สินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 23.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี ทั้งนี้ ถ้าหักสินค้าที่มีความผันผวนสูงมูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2562 ขาดดุลจำนวน 4,032 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนมกราคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดประมง และหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 6.4 0.4 และ 1.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคมีความเห็นว่า สถานการณ์การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น และการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวน 3.72 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า หดตัวร้อยละ 0.6 ต่อเดือน จากการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ที่ขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 10.3 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย และไต้หวัน ที่ขยายตัวร้อยละ 24.9 และ 31.0 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่งผลทำให้เดือนมกราคม 2562 มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 195,847 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวได้ดีของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาสินค้าในหมวดพลังงานที่ชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน โดยมีการว่างงานเพิ่มขึ้นในภาคการเกษตรอันเนื่องมาจากการปลูกยางลดลง ขณะที่แรงงานนอกภาคเกษตรกลับมีการจ้างงานดีขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ เดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 209.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.3 เท่า

ฉบับที่ 12/2562

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ