รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนมกราคม ปี 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2019 14:34 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม ปี 2562 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมณฑล และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมกราคม ปี 2562 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา และตราด เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 18.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ซึ่ง ขยายตัวร้อยละ 5.5 และ 11.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นสำคัญ นอกจากนี้เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 มีมูลค่า 27,082 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี เป็นสำคัญ จากการลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 113.3 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับตัวลดงมาที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 34.8 และ 41.8 ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ 5,033 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 38.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการ และปทุมธานี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 29.8 และ 1.4 ต่อปี ตามลำดับ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 22.7 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 31.3 และ 6.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ในเดือนมกราคม ปี 2562 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 97.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 9.7 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุบลราชธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 18.1 เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 23.9 และ 2.9 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม และสุรินทร์ เป็นต้น นอกจากนี้มีเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 929 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ในจังหวัดชัยภูมิและหนองบัวลำภู เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.9 และ 8.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมกราคมเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพิจิตร เชียงใหม่ และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 25.3 และ 13.2 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ ลำปาง และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 14.4 ต่อปี จากการขยายตัวในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี และเพชรบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 1,143 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 9.5 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 ที่ 828 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 240.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกระบี่ เป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมกราคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวอัตราเร่ง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนมกราคม ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้น จากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 และ 10.3 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ฉบับที่ 13/2562

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ