ความเป็นมาและการดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักอยู่ในกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2008 08:50 —กระทรวงการคลัง

          สืบเนื่องจากการที่กลุ่มพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นตัวแทนของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ประกอบด้วย กลุ่มอดีตพนักงานองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) องค์การฟอกหนัง (อ.ฟ.น.) องค์การแบตเตอรี่ (อ.บ.ต.) และตัวแทนจากรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นต้น ได้ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่ภายในกระทรวงการคลัง นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา เพื่อเรียกร้องและ กดดันรัฐบาลในประเด็นดังนี้
1. การเรียกร้องให้ฟื้นฟู ร.ส.พ. กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เรียกร้องและขอความชัดเจนในการขอฟื้นฟู ร.ส.พ. กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเดิมโดยขอจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ โดยอ้างว่าศูนย์ประสานงานฟื้นฟู ร.ส.พ. ได้เสนอแผนงานการจัดตั้งองค์กรและแผนธุรกิจมาให้ สคร. พิจารณานับตั้งแต่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 มอบให้ สคร. เป็นเจ้าภาพพิจารณาแนวทางการขอฟื้นฟู ร.ส.พ. ที่ได้ดำเนินการยุบเลิกไป โดยศูนย์ฟื้นฟู ร.ส.พ. มีส่วนร่วมในการประชุมพิจารณาในเรื่อง ดังกล่าวร่วมกับคณะทำงานพิจารณาที่จัดตั้งโดย สคร. เพียงครั้งเดียว รวมทั้ง ที่ผ่านมา สคร. มิได้แจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการให้ทราบก่อนที่จะนำผลการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใดจึงขอให้ถอนเรื่อง ร.ส.พ. ออกจากขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีก่อน เพื่อนำมาหารือร่วมกันอีกครั้งก่อน
การดำเนินการและแก้ไขปัญหาของ สคร.
กระทรวงการคลังได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวออกจากขั้นตอนการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้อง เพื่อนำมาหารือกันก่อน โดยที่กระทรวงการคลังมีความยินดีที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง แต่ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณกระทรวงการคลังก่อน เนื่องจากทำให้เกิดความไม่สะดวกต่อผู้ปฏิบัติงานในกระทรวง
2. การเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม อ.ฟ.น. และ อ.บ.ต.
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2550 เห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมรับโอน อ.ฟ.น. และ อ.บ.ต. เข้าเป็นหน่วยงานในสังกัด แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงกลาโหมยังไม่มีความชัดเจนและความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้พนักงาน อ.ฟ.น. และ อ.บ.ต. ที่ได้รับผลกระทบจากการยุบเลิก ตกงานและยังมิได้รับเงินชดเชย แต่อย่างใด และเรียกร้องให้ สคร. ดำเนินการติดตามให้มีความชัดเจนในเรื่องดังต่อไปนี้
1) ขอความชัดเจนในเรื่องรูปแบบหน่วยงานใหม่ โครงสร้างการบริหารงาน ลักษณะการจ้างงาน และอัตรากำลังการผลิต
2) โครงสร้างเงินเดือน สวัสดิการ ผลตอบแทน และสิทธิประโยชน์ ต้องไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับเดิม
3) ในกรณีที่โอนกิจการและพนักงานของ อ.ฟ.น. ไปเป็นหน่วยงานใหม่ในสังกัดกระทรวงกลาโหมในการผลิตรองเท้าและเครื่องหนังของกองทัพทั้งหมด ขอให้สั่งซื้อจากหน่วยงานใหม่แต่เพียงผู้เดียว
จากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ข้างต้น สคร. ได้ดำเนินการประสานและติดตามในเรื่องดังกล่าวแล้ว ขอเรียนสรุปดังนี้
1) การจ่ายเงินชดเชย : คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ อ.ฟ.น. และ อ.บ.ต. ได้เงินชดเชยให้กับพนักงาน กรณีที่เกษียณอายุ หรือไม่ประสงค์จะทำงานต่อ จะได้รับ 16 เดือน กรณีขอเข้าทำงานต่อกับหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม จะได้รับ 12 เดือน โดยจะสามารถดำเนินการจ่ายได้ภายในสิ้นเดือน มกราคม 2551
2) ระเบียบการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน กรณี อ.บ.ต. ได้เสนอให้กรมบัญชีกลางพิจารณาแล้ว จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และกรณี อ.ฟ.น. จะนำกรณี อ.บ.ต. มาเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางเดียวกันต่อไป
3) อัตราเงินเดือนและสวัสดิการ ได้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะพิจารณาโดยคำนึงถึงประสบการณ์ ความรู้ และทักษะในการทำงานประกอบด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ