รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2019 16:22 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 61 ปี งปม. 62 ขยายตัวร้อยละ 24.7 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนม.ค. 62 ขาดดุลจำนวน 94.9 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี
  • อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.73 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 62 เกินดุล 2,285.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 61 ปี งปม. 62 เบิกจ่ายได้ 304.9 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 24.7 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 286.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 256.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.0 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 30.1 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อปี ทั้งนี้การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน ม.ค. 62 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 59,902 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 29,663 ล้านบาท งบรายจ่ายอื่นของกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 20,421 ล้านบาท รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 15,970 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 6,079 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นของสำนักงานศาลยุติธรรม 5,277 ล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ม.ค. 62 ได้จำนวน 220.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.0 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี และรายได้จากส่วนราชการอื่นที่ขยายตัวร้อยละ 101.0 ต่อปี จากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่ความถี่ 4G เป็นสำคัญ

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ม.ค. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 94.9 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 27.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 122.5 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 281.4 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 62 มีมูลค่า 71,610 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.4 และเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 5.8

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 15.2 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวได้ดีในทุกหมวด นำโดยหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ขยายตัวร้อยละ 17 ต่อปี และภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาริมทรัพย์ (บุคคลธรรมดา) ที่ขยายตัวร้อยละ 31.5 ต่อปี โดยคาดว่าภายในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 นี้จะมีการเร่งโอนอสังหาฯ ก่อนที่จะเริ่มเกณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน 2562 นี้

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,832.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 1.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 87.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 96.4 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากเดือน ธ.ค. 61 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวในเดือนนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มาจากการผลิตรถยนต์นั่งและกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 27.7 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์แอร์ คอมเพรสเซอร์ทีการผลิตขยายตัวทั้งตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ กลุ่มคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดิสไดร์ฟ ที่หดตัวร้อยละ -7.0 เนื่องจากผู้ผลิตมีการพัฒนาความจุผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น จึงใช้เวลาทดสอบผลิตภัณฑ์นานขึ้นส่งผลต่อปริมาณการผลิต ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ม.ค. อยู่ที่ร้อยละ 70.5 ของกำลังการผลิตรวม ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับร้อยละ 67.5 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีอัตรากำลังการผลิตที่สูง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามการขยายตัวของค่าดัชนีฯ และอีกกลุ่มที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เภสัช ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายโรงงานผลิต

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ม.ค. 62 ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 6.4 1.6 และ 0.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ม.ค. 62 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -3.0 และ -7.6 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 11.1 โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สุกร และไข่ไก่

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ -10.1 และ -5.8 ต่อปี ตามลำดับ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 62 เท่ากับ 107.4 หดตัวร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ -5.0 ต่อปี จากการแข่งขันด้านราคาที่สูง ขณะที่หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาหดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี จากต้นทุนวัตถุดิบ

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.73 ขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือ สินค้ากลุ่มอาหารสดที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเนื้อสัตว์ รวมถึงการปรับขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรบางชนิด เช่น ผลไม้สด ลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก และเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.60

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 62 เกินดุล 2,285.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 5,026.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากทั้งดุลการค้า (ตามระบบ BOP) และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุลลดลง โดยดุลการค้าเกินดุลเพียง 62.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวสูงกว่าการส่งออก และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 2,222.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีตามฤดูกาลท่องเที่ยว

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 62 มียอดคงค้าง 18.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ทรงตัว เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 6.3 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราทรงตัวที่ร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 62 มียอดคงค้าง 19.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 4.3 และ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการขยายตัวที่เร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -14.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -8.0 และ -27.6 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 131.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและหมวดความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้น

China: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ก.พ. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จุด ต่ำสุดในรอบ 3 ปี จากดัชนีย่อยเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ (NBS) อยู่ที่ระดับ 54.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือนเดียวกันอยู่ที่ระดับ 49.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ-7.4 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีในเดือน ธ.ค. 61 ที่ระดับ -8.3 จุด จากความเชื่อมั่นในหลายหมวดที่เพิ่มขึ้น เช่น สถานการณ์การเงินในปัจจุบันและอนาคต และสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เป็นต้น

Vietnam: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์จากไม้ที่หดตัวขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์นม และข้าวสาลีที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ก.พ. 62 ขาดดุล 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากราคาหมวดวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอลงของยอดขายบริการที่พัก อาหาร และเครื่องดื่ม

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 62 ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวในหมวดเครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ผลผลิตหมวดโลหะประดิษฐ์ และอุปกรณ์ขนส่งขยายตัวเร่งขึ้นยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไปและอาหารหดตัวลงร้อยละ -5.0 และ -0.4 ตามลำดับ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (ปรับปรุง) เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 48.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด จากดัชนีย่อยหมวดธุรกิจที่ลดลง 9 เดือนติดต่อกันและความต้องการสินค้าที่ลดลง อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Indonesia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้าที่ปรับตัวลดลง ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากดัชนีย่อยหมวดยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 อยู่ระดับ 47.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ระดับ 47.9 จุดจากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน โดยระดับราคาหมวดที่อยู่อาศัยและหมวดสันทนาการลดลงอย่างเห็นได้ชัด

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.3 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวและการส่งออกขยายตัวชะลอลง ส่งผลให้ GDP ปี 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8

Australia: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.0 จุด จากดัชนีย่อยหมวดยอดขายสินค้าและการจ้างงานที่เร่งตัวขึ้น

India: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) เป็นการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 5 ไตรมาส จากการบริโภคที่ชะลอลง ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ทั้งปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นช่วงต้นสัปดาห์และปรับลดลงช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) STI (สิงคโปร์) และ KLCI (มาเลเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 28 ก.พ. 62 ปิดที่ระดับ 1,653.48 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 25-28 ก.พ. 62 ที่ 54,083 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์เพดานหนี้สหรัฐฯ ว่าสภาครองเกรสจะสามารถขยายเพดานหนี้ได้หรือไม่ และกรณี Brexit ที่สหราชอาณาจักรอาจเลื่อนกำหนดเวลาในการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 29 มี.ค. 62 นี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25-28 ก.พ. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -5,436 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นส่วนมากปรับลดลง 0-5 bps จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางและระยะยาวส่วนมากปรับเพิ่มขึ้น 0-3 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 25-28 ก.พ. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -900 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 28 ก.พ. 62 เงินบาทปิดที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -1.09 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้น อาทิ เยน ยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงิน ริงกิตอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -1.27

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ