รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 มีนาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 25, 2019 14:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 62 หดตัวที่ร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.พ. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวที่ ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัว ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัว ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. 62 มีมูลค่า 21,554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวจากปัจจัยชั่วคราว ที่ร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการส่งคืนยุทธปัจจัยที่มีการนำเข้ามาในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ภาพรวมการส่งออกในเดือนดังกล่าวยังคงหดตัวที่ร้อยละ -4.9 ในรายละเอียดสินค้าส่งออก พบว่า สินค้าที่ยังคงขยายตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ทองคำ เครื่องสำอาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ผักผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม เป็นต้น ขณะที่ กลุ่มสินค้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า การส่งออกยังยังกลุ่มตลาดสหรัฐฯ และกลุ่ม ASEAN(5) ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ หดตัว ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.พ. 62 มีมูลค่า 17,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นหดตัวที่ร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งจากการนำเข้าสินค้าทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าสินค้า อาทิ สินค้าหมวดเชื้อเพลิงพลังงาน สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ก.พ. 62 เกินดุลมูลค่า 4.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 2 ล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 62 มีจำนวน 3.57 ล้านคน ขยายตัวในอัตราชะลอร้อยละ 0.2 ต่อปี แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวลง ร้อยละ -12.3 ต่อปี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 17.3 15.1 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ปี 62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.29 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ก.พ. 62 มีมูลค่ารวม 191,854 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวร้อยละ -10.5 ต่อปี เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 62 มีจำนวน 32,338 คัน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -8.8 ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวได้ร้อยละ 13.0

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 62 มีจำนวน 49,986 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -3.2 ตามการเคลื่อนไหวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังจากขจัดผลทางฤดูกาลก็หดตัวร้อยละ -4.9 อย่างไรก็ดีทั้งยอดรถยนต์เชิงพานิชและรถกระบะยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ก.พ. 62 ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ ที่ร้อยละ 3.8 และ 1.6 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.8 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 62 ขยายตัว ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน ก.พ. 62 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -2.7 และ -8.4 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 16.1 โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และสุกร

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการผลิตในหมวดเชื้อเพลิง สินค้าไม่คงทน พลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติเป็นเอกฉันท์ 10-0 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปี พร้อมคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 หดตัวตัวร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกหมวดสินค้าอุตสากรรม เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 62 หดตัวตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่และเชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ สินค้าอุตสาหกรรม และครื่องจักกลที่ยังคงหดตัวลง ส่งผลให้เกินดุลการค้าในเดือน ก.พ. 62 ที่ 3.4 แสนล้านเยนด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรวตัวจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีทุกหมวดที่ค่อนข้างทรงตัว

UK: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำที่สุดในรอบ 34 ปีอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากระดับราคาที่เพิ่มขึ้นในหลายหมวดทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี และคงปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Quantitative Easing : QE) ที่ 475 พันล้านปอนด์

Eurozone: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากระดับราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือนม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นผลจากการเร่งขึ้นของการส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน และเกินดุลการค้าใน เดือน ม.ค. 62 ที่ 1.5 พันล้านยูโร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 62 (ตัวเลขเบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -7.2 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -7.4 จุด โดยอยู่ในทิศทางขาขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61

Hong Kong: mixed signal

อัตราว่างงาน เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าเกือบทุกหมวดขยายตัวชะลอลง

Philippines: improving economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากหมวดสินค้าเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าที่เร่งตัวขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี ถือเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 16 พ.ย. 61

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 6.0 ต่อปี เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 61

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 62 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ -0.7 โดยระดับราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารหดตัวชะลอลง ขณะที่หมวดอาหารทรงตัว

Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากการนำเข้าสินค้าที่ชะลอลงเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะสินค้าหมวดอาหารและสินค้าจากโรงงานส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางาน Part Time เพิ่มขึ้น

India: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 62 ขาดดุล 9.1 พันล้านรูปี

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปลายสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น FTSE100 (สหราชอาณาจักร) TWSE (ไต้หวัน) และ STI (สิงคโปร์) เป็นต้น หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ตามที่ตลาดคาด และส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในปีนี้ ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 21 มี.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,634.00 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค. 62 ที่เพียง 37,767 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,582 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-9 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.39 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18-21 มี.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,181 ล้านบาท

เงินบาททรงตัวจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 มี.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 31.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่ค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัวด้วยเช่นกัน โดยแข็งค่าขึ้นเพียงร้อยละ 0.01

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ