“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยกรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี”
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ยังคงขยายตัวในหลายภูมิภาค นำโดยกรุงเทพและปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวในหลายภูมิภาค และการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่องในทุกภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.0 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.3 และ 1.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 3,709.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 94.3 ต่อปี จากการลงทุนเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี จากรายได้จากการเยี่ยมเยือนอยู่ที่ 87,975 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.1 ตามการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ร้อยละ 7.5 และ 6.8 ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดสมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 15.3 และ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ 934 ล้านบาท ตามการลงทุนในโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรดเข้มข้น น้ำสับปะรดเข้มข้นแช่แข็ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.6 จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ยโสธร และสกลนคร เป็นต้น สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากการขยายตัวในจังหวัดเลย อุดรธานี และกาฬสินธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 6,494 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.3 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี ตามการขยายตัวของ ทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่ร้อยละ 6.0 และ 6.4 ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกุมภาพันธ์เบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดพะเยา สุโขทัย และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจาก ยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 17.9 และ 6.4 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ 1,156 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 163.0 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตยารักษาโรคปราศจากเชื้อชนิดฉีด ชนิดผง พ่นสูด ยาหยอดตา ยาปฏิชีวนะ ชนิดฉีด น้ำเกลือ และน้ำกลั่น ในจังหวัดเชียงราย เป็นสำคัญ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น จากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.6 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 98.5 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จาการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี รายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ร้อยละ 5.7 และ 7.6 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.0 และ 4.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -3.4 และ -20.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัว สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ร้อยละ 12.3 และ 8.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็นเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลง จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หดตัวลงร้อยละ -6.3 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ -2.8 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว จากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ตามยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ -5.1 และ -6.5 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่า 2,515 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดระยองและชลบุรี เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ในระดับที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวอัตราเร่ง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้น จากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคใต้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 79.6 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น สำหรับด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลง จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หดตัวลงร้อยละ -3.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ร้อยละ -1.7 และ -4.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรส่งสัญญาณทรงตัว แต่มีเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 683.4 ล้านบาท ตามการลงทุนในจังหวัดสุราษฎ์ธานีและสงขลาเป็นสำคัญ ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและผลิตที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ฉบับที่ 20/2562
วันที่ 27 มีนาคม 2562
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง