รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 7, 2019 14:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 0.2 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน มี.ค. 62 ขาดดุลจำนวน 50.5 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือน มี.ค. 62 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มี.ค.62 หดตัวร้อยละ -1.6 ต่อปี
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. 62 เกินดุล 6,080.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 66.2
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี
  • GDP ของยูโรโซน ไตรมาสที่ 1 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของฮ่องกง ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของไต้หวัน ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มี.ค. 62 ปีงปม. 62 เบิกจ่ายได้ 225.1 พันล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 2.3 ต่อปีโดย (1) การเบิกจ่ายรายจ่ายปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 200.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อปี แบ่งออกเป็น รายจ่ายประจำ 159.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี และรายจ่ายลงทุน 40.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 24.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน มี.ค. 62 ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 21,694 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 11,211 ล้านบาท และงบอุดหนุนของกรมทางหลวง 10,065 ล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค. 62 ได้จำนวน 179.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี และ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน มี.ค. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน 50.5 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงิน นอกงบประมาณที่เกินดุล 0.9 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล 49.6 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 289.0 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มี.ค. 62 มีมูลค่า 64,722 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -1.8 โดยเป็นผลจากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าร้อยละ 5.7 เป็นสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 62 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาที่แท้จริงขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมี.ค.62 หดตัวร้อยละ -1.6 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -7.5 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากหมวดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากการขายอสังหาฯ (นิติบุคคล) ร้อยละ -17.0 ต่อปี แต่ภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ยังคงขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,908.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.8 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 7.0 พันล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกิน ร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 86.9 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96.4 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ แหล่งที่มาการหดตัวของดัชนีฯ ในเดือนนี้ มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ที่หดตัวร้อยละ -11.1 ร้อยละ -4.2 และร้อยละ -4.5 ตามลำดับ ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลหดตัวที่ร้อยละ -1.8 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อการหดตัวของดัชนีฯ ในเดือน มี.ค. และไตรมาสที่ 1 ได้แก่ กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เนื่องจากการหดตัวของการผลิตฮาร์ดดิสไดร์ฟจากการเริ่มเปลี่ยนแปลงของการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนมี.ค. อยู่ที่ร้อยละ 74.4 ของกำลังการผลิตรวม

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวต่อเนื่องของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็นหดตัวร้อยละ -40.7 และ -4.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -6.7 ต่อปี

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. 62 เกินดุล 6,080.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 6,504.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มขึ้นที่ 3,584.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวสูง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุล 2,495.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการจ่ายผลตอบแทนการลงทุน ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 3 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 14,597.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 62 มียอดคงค้าง 18.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 62 มียอดคงค้าง 19.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 และ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าฯ ในเดือน มี.ค. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 67.6 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 66.2 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากความกัวงลของผู้บริโภคเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและความไม่แน่นอนทางการเมือง การส่งออกของไทยลดลง ปัญหาภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใน 4 เดือนแรกของปี 62 อยู่ที่ระดับ 67.6

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยทั้งสินค้า กลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงานยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้ โดยเฉพาะ กลุ่มอาหารสด สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ตามการสูงขึ้นของผักสดที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ส่วนกลุ่มพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง หลังจากที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า โดยสูงขึ้นร้อยละ 2.3 ตามภาวะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.6

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 62 เท่ากับ 107.9 ขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ร้อยละ 11.2 ต่อปี จากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ตามความต้องการปูนซีเมนต์ผสมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี จากการแข่งขันด้านราคากับเหล็กนำเข้าจีน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 52.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.3 จุดจากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมโรงงาน ที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 เดือน เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 62 ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ทรงตัวตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 61

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวทรงตัวที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อยที่ร้อยละ 1.1 อัตราว่างงาน เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ผลจากอัตราว่างงานที่ลดลงในอิตาลีและสเปนดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.5 จุดโดยดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตหดตัวลง บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง แต่เริ่มมีการฟื้นตัวในกรีซซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 19 ปี

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปีที่ร้อยละ 0.5 จากช่วง.เดียวกันปีก่อน ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 โดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนหดตัว มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. 61 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -0.1 ทำให้ขาดดุลการค้า 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

South Korea: mixed signal

ยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในเดือนก่อน โดยยอดขายหมวดอาหารและเครื่องสำอางขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการส่งออกเดือน เม.ย. 61 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังจีน EU ฮ่องกง และญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสา- -หกรรม เดือน เม.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 50.2 จุด จากระดับ 48.8 จุดในเดือนก่อน สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตมีเสถียรภาพมากขึ้นพร้อมทั้งมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

UK: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ -13.0 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเงินส่วนบุคคลใน 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง แต่ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 62 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ทรงตัวตั้งแต่เดือน ส.ค. 61

Taiwan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.2 จุด สะท้อนการหดตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและธุรกิจใหม่ต่างปรับตัวลดลง

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จุด เนื่องจากหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

Phillipines: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 50.9 จุด จากผลผลิตที่ลดลงจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายอาหารที่หดตัว

Malaysia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออกและนำเข้า เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.5 และ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ จากการส่งออกและนำเข้าสินค้าหมวดเครื่องดื่มที่ชะลอลง ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

China: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน เม.ย. 62 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด โดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและธุรกิจใหม่ขยายตัวชะลอลง

India: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 จุด จากหมวดธุรกิจและยอดขายที่ชะลอลง

Australia: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.8 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่และยอดขายที่ขยายตัวเร่งขึ้น และดัชนีฯ ภาคบริการ เดือนเดียวกัน อยู่ที่ระดับ 46.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายและยอดสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Vietnam: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหมวดขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกรองเท้าและผลไม้ที่เร่งตัวขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 17.6 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าผ้าและธัญพืชที่เร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในที่ -700 ล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 14.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากยอดขายในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนี MSCI ASIA Pacific ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 2 พ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,679.17จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 62 ที่ 42,823.71 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 9.57 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุ 1-2 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0-2 bps ในขณะที่พันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลง 0-2 bps ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนฯ มีความชันลดลง โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 3.96 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 29 เม.ย. - 2 พ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -7,777.25 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 2 เม.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ เยน และหยวน ขณะที่เงินวอนและริงกิตอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.20

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ