รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 - 17 พฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2019 15:47 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 62 คิดเป็น 1.79 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1
  • GDP ของยูโรโซน ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของมาเลเซีย ไตรมาส 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีน เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ 37.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 หมื่นคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -0.4 หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีการหดตัวลงที่ร้อยละ -5.1 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 และภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 62 คิดเป็น 1.79 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 0.3 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ 7.4 ในขณะที่เขตภูมิภาค หดตัวที่ร้อยละ -2.0 ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 ยังหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.1

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.8 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ระดับขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 โดยยอดขายรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากผลผลิตสินค้าในหมวดเชื้อเพลิง สินค้าคงทน และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่หดตัว ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาในหมวดที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล นันทนาการ การคมนาคม และการศึกษา ที่ปรับตัวสูงขึ้น

China: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 โดยผลผลิตของภาคการผลิตและเหมือง.แร่ขยายตัวชะลอลง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 โดยยอดขายเครื่องนุ่งห่มและวัสดุก่อสร้างหดตัวลง

Australia: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายสินค้าหมวดอาหารที่ชะลอลง มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าหมวดอาหารและวัตถุดิบที่ชะลอลง ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.2 ผลจากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวส่งผลให้เกินดุลการค้า 6.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาลดลงและจำนวนคนหางานไม่เต็มเวลาเพิ่มขึ้น

India: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 เร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าหมวดอาหารและแร่ที่เร่งขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 11.0 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน เม.ย. 62 ขาดดุล 1.5 หมื่นล้านรูปี

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยมูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน มี.ค. 62 ที่ 2.3 หมื่นล้านยูโร

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

UK: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อกำลังแรงงานรวม ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ร้อยละ 3.9 และอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 44 ปี

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ -13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าหมวดก๊าซและน้ำมันที่หดตัวลง ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -6.6 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และน้ำมันดิบที่หดตัวตัว ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสุทธิขยายตัวชะลอลงยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากยอดค้าปลีกที่ชะลอลงในทุกหมวดสินค้า

Singapore: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้ากลุ่มปิโตรเลียมและสินค้าภายในประเทศที่ยังคงหดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าน้ำพืชและสัตว์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นส่งผลให้เกินดุลการค้า 2.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค เช่นJCI (อินโดนีเซีย) และ PSEi (ฟิลิปปินส์)เป็นต้นโดยได้รับแรงกดดันในประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นหลัก ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 16 พ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,614.75 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 62 ที่ 51,298 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ และสำหรับในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องติดตามประเด็นการเมืองภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -6,200 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโดยมากปรับลดลง 0-2 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.23 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 13,634 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 16 เม.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยนและยูโร ขณะที่เงินริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ