Executive Summary
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัว ร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 95.0
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี
- GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 1 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่ 4 ปี 61 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวดีต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่การส่งออกปรับตัวลดลง ในส่วนของด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขนส่งฯ และสาขาการก่อสร้างชะลอตัวลง
มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 62 มีมูลค่า 18,556 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในช่วงการหดตัวที่ร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรโดยเฉพาะอาหาร ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัว อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ยังคงกระจายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ ตลาดสหรัฐฯ อินเดีย CLMV มาเลเซีย ฮ่องกง เป็นต้น ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก ปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 62 มีมูลค่า 20,013 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นหดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิงที่หดตัวเป็นสำคัญขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญที่ยังขยายตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าทุน และกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 4 เดือนแรกปี 62 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน เม.ย. 62 กลับมาขาดดุลมูลค่า -1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุล 0.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่ยังคงมีอยู่สูง ประกอบกับมีการ ส่งมอบรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 14.6
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 62 มีจำนวน 51,145 คัน คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวชะลอลงตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ 4 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน เม.ย. 62 ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดหมวดปศุสัตว์และประมงที่ร้อยละ 1.6 ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -2.0 และ -2.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล ไก่ สุกร และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก และกุ้งขาวแวนนาไม
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 62 หดตัว ร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน เม.ย. 62 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญ -4.2 ขณะที่ดัชนีราคาในหมวด ปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 และ 0.6 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนเม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือน มี.ค. เป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน การปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากเดือนเม.ย. มีวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์จึงมีวันทำงานน้อยกว่าปกติ และได้มีการการเร่งผลิตชดเชยก่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วในเดือนมี.ค. อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดือนกันของปีก่อน ค่าดัชนีฯ มีการขยายตัวร้อยละ 6.6 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (TISI (E)) อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.2 ในเดือน มี.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อันจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยให้ชะลอตัว
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน เม.ย. 62 มีจำนวน 3.20 ล้านคน กลับมาขยายตัว ร้อยละ 3.3 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 35.1 ต่อปี เป็นสำคัญ ทั้งนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งหดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี แต่ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นมาทดแทน ได้แก่ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่น มาเลเซีย และฮ่องกง ที่ขยายตัวร้อยละ 25.6 10.0 และ 28.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน เม.ย. 62 มีมูลค่ารวม 164,112 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 37.8 ต่อปี เป็นสำคัญ
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ 6.73 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -6.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายในภาคตะวันตกที่หดตัวมากที่สุดที่ร้อยละ -8.3 จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับยอดสร้างบ้านใหม่เดือน เม.ย. 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนระดับ เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยเป็นผลมาจากยอดใบอนุญาตก่อสร้างทาวน์โฮมส์และคอนโดมีเนียมที่ขยายตัวร้อยละ 25.0 และ 5.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ
GDP ไตรมาส 1 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคขยายตัวทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.4 ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.7 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตเกือบทุกหมวดหดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ที่เร่งขึ้น ขณะที่สินค้าเบ็ดเตล็ตและอื่นๆหดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดอุปกรณ์การขนส่งและสินแร่ที่เร่งขึ้น ส่งผลให้เกินดุลการค้าในเดือน เม.ย. 62 ที่ 6.0 หมื่นล้านเยนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม(เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.2 จุด จากผลผลิตและยอดสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาเกือบทุกหมวดที่เร่งขึ้น
อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -9.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตของภาคการผลิตกลับมาขยายตัว ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยยอดขายรถยนต์ขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราสูง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากระดับราคาสินค้าโดยรวมที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ -6.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ -7.9 จุด ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.9 จุดจากดัชนีย่อยหมวดปริมาณผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ดัชนี PMI ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.8 จุดจากอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 แต่ดัชนี PMI รวม (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากระดับราคาหมวดขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้นมาก
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนที่แล้วโดยราคาสินค้าประเภทของแต่งบ้าน การศึกษาและสินค้าคงทนทรงตัว
GDP ไตรมาส 1 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน และถือเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากราคาสินค้าหมวดการขนส่งและของใช้ในบ้านที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -4.3 จากผลผลิตหมวดเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่สูงขึ้น
อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น FTSE100 (สหราชอาณาจักร) TWSE (ไต้หวัน) และ STI (สิงคโปร์)เป็นต้นโดยได้รับแรงกดดันจากประเด็นที่สหรัฐฯ อาจเพิ่มเติมรายชื่อบริษัทของจีนในบัญชีดำ ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 23 พ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,609.79 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 21 - 23 พ.ค. 62 ที่ 49,459 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ และสำหรับในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องติดตามประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่หันมาเน้นการกีดกันบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของอีกฝ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 - 23 พ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,589 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นและระยะกลางปรับเพิ่มขึ้น 0-2 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวปรับลดลง 0-5 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 3.02 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 1,476 ล้านบาท
เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 23 เม.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -1.29 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.81
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th