รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2019 14:34 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.9 ต่อปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่นำโดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคงทั้งภายในและภายนอก”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2562 “เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.9 ต่อปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่นำโดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคงทั้งภายในและภายนอก” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ยังคงขยายตัวจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง และการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 16.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกของปี ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกยังขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 66.2

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วจากการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อเดือน ทำให้ 4 เดือนแรกของปีขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนสะสม 4 เดือนแรกยังคงหดตัวเป็นผลจากการหดตัวอย่างมากในสามเดือนก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -20.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ –14.0 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตามดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังคงหดตัว สะท้อนจากการส่งออกสินค้าหดตัวตามการหดตัวของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ทำให้ 4 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี ตลาดคู่ค้าสำคัญยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย CLMV มาเลเซีย และฮ่องกง ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ทำให้มูลค่านำเข้าช่วง 4 เดือนแรกของปียังคงหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี แม้ว่าเดือนเมษายน 2562 ดุลการค้าขาดดุลมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดุลการค้าช่วง 4 เดือนแรกของปี ยังคงเกินดุล 0.5 พันล้านสหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนเมษายน 2562 ส่งสัญญาณหดตัวในภาคเกษตร ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ โดยภาคการเกษตรสะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.5 จากเดือนก่อน ดัชนีราคาสินค้าในหมวดพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน 2562 มีจำนวน 3.2 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัวที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี ซึ่งนับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 ต่อปี สำหรับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนเมษายนมีมูลค่า 164,112 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีและดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงาน อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ในระดับสูงที่ 210.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2562 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.9 ต่อปี ประกอบกับการกลับมาขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่นำโดยนักท่องเที่ยวจากประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ายังคงหดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับมั่นคงทั้งภายในและภายนอก”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ยังคงขยายตัวในภาษีมูลค่าเพิ่ม รถยนต์นั่ง และการนำเข้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 16.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นประกอบกับยอดการส่งมอบรถจากงานมอเตอร์โชว์ในเดือนนี้ ทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง 4 เดือนแรกของปีขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลของฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเป็นการขยายตัวในเขต กทม. ร้อยละ 7.4 ต่อปี ในขณะที่เขตภูมิภาคกลับหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่สะสม 4 เดือนแรกของปี 62 ยังคงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.2 ปรับตัวลงเล็กน้อย

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่แล้วจากการลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัว สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีจำนวน 51,145 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อเดือน ตามยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อปี ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์สะสม 4 เดือนแรกของปีขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนสะสม 4 เดือนแรกกลับหดตัวที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี เป็นผลจากการหดตัวในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ หดตัวที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางปรับผลของฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อเดือน ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -20.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าหดตัวร้อยละ –14.0 จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการหดตัวในหมวดภาษีหักธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ร้อยละ -29.0 ต่อปี เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 107.9 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของดัชนีราคาหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ร้อยละ 11.2 ต่อปี ตามราคาไม้นำเข้า เช่นเดียวกันดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 0.6 ต่อปี ตามความต้องการปูนซีเมนต์ผสมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -1.7 ต่อปี จากการแข่งขันด้านราคา กับเหล็กที่นำเข้าจากจีน

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนเมษายน 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 262.7 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 211.9 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 186.0 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 25.9 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 50.8 พันล้านบาท

4. อุปสงค์จากต่างประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังคงหดตัวสะท้อนจากการส่งออกสินค้าหดตัวตามการหดตัวของสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า มีมูลค่าเท่ากับ 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -2.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ 4 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อปี โดยหมวดสินค้าเกษตรโดยเฉพาะหมวดอาหารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าในหมวด แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกล ยังคงหดตัว อย่างไรก็ดี ตลาดคู่ค้าสำคัญยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย CLMV มาเลเซีย และฮ่องกง ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปียังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -1.9 ต่อปี ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 20.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี จากการหดตัวในการนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าทุน และกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปยังคงขยายตัว ทำให้มูลค่านำเข้าช่วง 4 เดือนแรกหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี สำหรับดุลการค้าในเดือนเมษายน 2562 กลับมาขาดดุลมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนเมษายน 2562 ส่งสัญญาณหดตัวในภาคการเกษตร ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ โดยภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.5 จากเดือนก่อนหน้า เมื่อพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรพบว่าผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ขณะที่ผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ผลผลิตหมวดประมงหดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไก่ สุกร และไข่ไก่ ขณะที่ ข้าวเปลือก และกุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -0.3 จากเดือนก่อนหน้า หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าในหมวดพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ -4.2 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และไข่ไก่ ขณะที่ ข้าวเปลือก ยางพารา ผลไม้ สุกร ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาเพิ่มสูงขึ้น สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน เป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 35.1 ต่อปี สูงสุดในรอบ 6 ปี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และมาเลเซียขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 25.6 ต่อปี และ 10.0 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -8.9 ต่อปี เป็นเดือนที่ 3 สำหรับรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่าเท่ากับ 164,112 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นสำคัญ ส่วนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.9 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าและเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 4 เดือน การปรับตัวลดลงดังกล่าวมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการหยุดเทศกาลสงกรานต์ซึ่งทำให้วันทำงานน้อยกว่าปกติ และได้มีการเร่งผลิตชดเชยก่อนวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนล่วงหน้า อยู่ที่ระดับ 101.9 ลดลงจากเดือนก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในเดือนเมษายน 2562 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 3.6 แสนคน หดตัวร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.8 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน อยู่ในระดับสูงที่จำนวน 210.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฉบับที่ 32/2562

วันที่ 30 พฤษภาคม 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ