ตามที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 (การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นั้น เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมาย ลำดับรองของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562 ดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วยร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง จำนวน 1 ฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่ทำให้ผู้ลงทุนในกองทุนรวมมีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้น
ร่างกฎหมายลำดับรองดังกล่าวเป็นไปตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2561 รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้
(1) ปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมให้เสียภาษีเงินได้ในระดับกองทุนรวมจากดอกเบี้ย ส่วนลด และเงินได้อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยที่กองทุนรวมได้รับ
(2) กำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 และกองทุนรวมไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี ยกเว้นผู้จ่ายไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เช่น ได้รับดอกเบี้ยจากต่างประเทศ จึงนำไปรวมคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ และสามารถนำภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศมาเป็นเครดิตภาษี
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้ในระดับผู้ถือหน่วยลงทุนกรณีเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้เพื่อไม่ให้เกิดภาระภาษีซ้ำซ้อน
(4) ยกเว้นภาษีเงินได้ในระดับกองทุนรวมกรณีเป็น RMF หรือกองทุนรวมที่เสนอขายเฉพาะกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุ
(5) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1, 2 และ 4) นำเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับไปรวมคำนวณภาษีด้วย เพื่อให้การประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของกองทุนรวมมีภาระภาษีเท่าเทียมกันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
(6) กำหนดให้กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 รวมทั้งผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ต่อไปตามเดิม
ทั้งนี้ กฎหมายลำดับรองทั้งหมดมีรายละเอียดตามเอกสารแนบและได้กำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2562
การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่กระทรวงการคลังเสนอจะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้โดยตรงกับผ่านกองทุนรวมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยไม่ทำให้ผู้ลงทุนในกองทุนรวมมีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ศูนย์สารนิเทศสรรพากร กรมสรรพากร
โทร. 1161
รายละเอียด
(1) กำหนดให้กองทุนรวมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และผู้ลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เช่นเดียวกันกับที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในประมวลรัษฎากรก่อนการยกเลิกหรือการแก้ไขบทบัญญัตินั้นโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 52 ) พ.ศ. 2562
(2) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมตราสารหนี้
(3) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการใน ประเทศไทย สำหรับรายได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องไม่นำต้นทุนและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับรายได้นั้นมาหักเป็นรายจ่าย
(4) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและมีการจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน โดยกองทุนรวมดังกล่าวมิใช่ผู้ทรงคนแรก
(5) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวม ที่เสนอขายเฉพาะแก่สำนักงานประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันตามที่อธิบดีกรมสรรพากร ประกาศกำหนด สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
(6) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมสำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2562
(7) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรที่เกิดขึ้นจากตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ต่างประเทศเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นก่อนการเป็นผู้ทรงตราสารแสดงสิทธิในหนี้นั้น
(8) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย แต่ไม่รวมถึงเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน (กอง 2) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง (กอง 4) ให้แก่
(1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยสำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จำนวนกึ่งหนึ่ง
(2) บริษัทจดทะเบียน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้ทั้งจำนวน
(9) กำหนดให้กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
รายละเอียด
ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ โดย
กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15.0 สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ทั้งนี้ กรณีเป็นผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ ให้ถือว่าผู้ออกตั๋วเงินหรือผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน และให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากกองทุนรวมดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15.0 และให้ถือว่าภาษีที่เรียกเก็บนั้นเป็นภาษีที่หักไว้
ที่มา: กระทรวงการคลัง