รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 8, 2019 14:51 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.87 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.48 ต่อปี
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 62 ขาดดุล -376.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 62 เท่ากับ 107.2 หดตัว ร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน มิ.ย. 62 หดตัว ที่ร้อยละ -15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน พ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 42.0 ของ GDP
  • หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 78.7 ต่อ GDP
  • มูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.87 ต่อปี ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ของปี 62 โดยปัจจัยบวกที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือ สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยสูงขึ้นร้อยละ 6.35 ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้ ข้าวสาร และเนื้อสุกร เป็นสำคัญ ส่วนปัจจัยลบคือ สินค้าในกลุ่มพลังงานที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยลดลงร้อยละ -3.86 ตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.48 ต่อปี

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน พ.ค. 62 ขาดดุล -376.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับเดือนก่อนที่เกินดุล 1,384.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มที่ 1,402.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการรายได้ และเงินโอนขาดดุล -1,778.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับเดือนก่อนหน้า ตามฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 13,498.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 62 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.6 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน พ.ค. 62 มียอดคงค้าง 20.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มิ.ย. 62 เท่ากับ 107.2 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -7.8 ต่อปี จากการแข่งขันที่สูงเนื่องจากปริมาณเหล็กในตลาดที่มีจำนวนมากทั้งการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศและการกลับมาผลิตอีกครั้งหลังจากหยุดซ่อม ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ปรับตามราคาปูนซีเมนต์ผสม ประกอบกับความต้องการใช้คอนกรีตผสมเสร็จที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างคงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผล ทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -7.1 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ -19.4 และเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -13.9 ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 62 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สินเดือน พ.ค. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,979.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.0 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 18.9 พันล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 87.8 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96.8 ของยอดหนี้สาธารณะ

หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1 ปี 62 อยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.69 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 78.62 ในไตรมาสก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) โดยระดับหนี้ครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบเร่งขึ้น จากการเร่งขึ้นของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครติต และสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวชะลอลง ภาพรวมคุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากสัดส่วน NPL ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ทั้งนี้ หากไม่รวมสินเชื่อที่สถาบันการเงินให้ครัวเรือนกู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ร้อยละ 65.8 ต่อ GDP

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดยอดสั่งซื้อสินค้าและราคาสินค้าที่ลดลงเป็นสำคัญและดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกันจากดัชนีหมวดความเชื่อมั่นธุรกิจที่ลดลงเป็นหลัก ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ระดับลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

Eurozone: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยยอดขายหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์และอาหารหดตัวมากที่สุดดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 53.4จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -13.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยการส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ หดตัว .ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ 11.1 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่งสัญญานเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื้อง อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Australia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ49.4 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.7 จุด สะท้อนถึงการหดตัวของภาคการผลิต โดยดัชนีหมวดย่อยส่วนมากปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 18.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าในครัวเรือนหดตัวลง และเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 62 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยทีร้อยละ 1.00 ต่อปี

China: worsening economic trend

ดัชนีPMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 (Caixin) อยู่ที่ระดับ 49.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาเศรษฐกิจภาคการผลิตหดตัวลง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ เดือน มิ.ย. 62 (Caixin) ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 52.0 จุด ส่งผลให้ ดัชนี PMI รวม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 50.6 จุด

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยดัชนีย่อยหมวดผลผลิตและงานใหม่ปรับตัวลดลง

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าหมวดเชื้อเพลิงหดตัวลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 45.5 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 54

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.6 จากผลผลิต และยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ทีร้อยละ 3.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาหมวดขนส่งและสุขภาพที่ลดลง

Vietnam: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 52.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย จากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Malaysia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 47.8 ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากยอดส่งออกที่น้อยลง ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้น ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าอาหาร และวัตถุดิบชะลอตัวลง ส่งผลให้ ดุลการค้าเกินดุล 9 พันล้านริงกิต

Singapore: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 49.6 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ เกือบ 3 ปี จากยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดส่งออก และผลผลิตที่ลดลง

Philippines: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 51.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยที่ราคาสินค้าหมวดการขนส่ง และอุปกรณ์การขนส่งปรับลดลงมาก

India: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด โดยดัชนีหมวดย่อยงานใหม่ขยายตัวชะลอลง ดัชนี PMI ภาคการบริการ อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงการหดตัวของภาคบริการ

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 ลดลงอยู่ที่ระดับ 49.4 จุด เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อชะลอตัวลง PMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.0 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.4

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นีปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค เช่น STI (สิงคโปร์) JCI (อินโดนีเซีย) และ PSEi (ฟิลิปปินส์) เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 4 ก.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,724.37 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 62 ถึง 71,800 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 8,628 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุ ปรับลดลง 1-18 bps โดยในสัปดาห์นี้ ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดพันธบัตรสุทธิ 12,949.35 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 4 ก.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.47 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่น ๆ อาทิ เงินเยน ริงกิต และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.43

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ