รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 15 - 26 กรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 30, 2019 15:13 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมิ.ย. มีจำนวน 3.05 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี
  • อัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี
  • GDP ของเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ ยางพารา เครื่องดื่ม ทองคำ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกส่วนใหญ่หดตัวยกเว้น อินเดีย ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 6 เดือนแรก ปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นหดตัวที่ร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากกลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าทุน สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 6 เดือนแรกปี 62 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 62 กลับมาเกินดุลมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุล 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. มีจำนวน 3.05 ล้านคน กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวอินเดีย ที่ขยายตัว ร้อยละ 27.2 ต่อปี เป็นสำคัญและนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และลาว ที่ขยายตัวร้อยละ 19.0, 15.9 และ 13.3 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 62 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.97 ล้านคน ขยายตัวในอัตราชะลอที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี (ไตรมาสที่ 1 ปี 62 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.80 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี) สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่ารวม 149,761 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวอินเดียที่ขยายตัวร้อยละ 33.4 ต่อปี เป็นสำคัญ และไตรมาสที่ 2 ปี 62 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 448,517 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี (ไตรมาสที่ 1 ปี 62 รายได้ 573,960 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี)

Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน มิ.ย. มีจำนวน 38.3 พันคน ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจากแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตร หดตัวที่ร้อยละ -1.3 เป็นผลมาจากช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ภาคอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ -0.8 เป็นการหดตัวจากภาคการผลิต และภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 1.6 จากภาคขายส่งขายปลีกที่ขยายตัวเป็นสำคัญ สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.6 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -14.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวที่ร้อยละ -2.9 รวมไตรมาสที่ 2 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 62 มีจำนวน 35,490 คัน คิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -3.6 โดยเป็นผลมาจากฐานสูงในปีที่แล้ว ประกอบกับมีการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ดีในไตรมาสที่ 2 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 62 มีจำนวน 50,639 คัน หดตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี รวมถึงหดตัวร้อยละ -3.9 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันที่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ทำให้ไตรมาส 2 ของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -15.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า หดตัวร้อยละ -11.4 ต่อเดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็นหดตัวร้อยละ -28.4 และ -13.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จนส่งผลต่อการส่งออกที่ชะลอตัว ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผล ทางฤดูกาลแล้ว) หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 จากยอดสร้างบ้านแบบคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -9.4 จากเดือนก่อนหน้าสอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. 62 ที่หดตัวร้อยละ -6.1 จากเดือน ก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สวนทางจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยที่บ้านแบบทาวน์โฮมส์ขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 37.8 จากเดือนก่อนหน้า ยอดขายบ้านใหม่ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ 6.46 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายในภาคตะวันตกที่ขยายตัวสูง

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดเคมีภัณที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5 หลังจากที่หดตัวร้อยละ -5.2 ในเดือนก่อนหน้า ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่เชื้อเพลิง เครื่องจักรกล และสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว .ส่งผลให้เกินดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 62 ที่ 5.9 แสนล้านเยน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาหมวดอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ ดัชนีราคาหมวดการขนส่ง และการสื่อสารที่หดตัวลดลง

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยผลผลิตหมวดเหมืองแร่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลง ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

South Korea: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 95.9 ลดลง 1.6 จุดจากเดือนก่อนหน้า ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยระดับราคาสินค้าทุกหมวดปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าหมสดของแต่งบ้านที่ราคาขยายตัวขึ้นมากที่สุด

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากระดับราคาหมวดการสื่อสาร สันทนาการ และสุขภาพที่หดตัวลง

India: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 2.5 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัว มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -9.1 ลดลงจากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 62 ขาดดุล 15.3 พันล้านรูปี

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากอาหารและปศุสัตว์ เครื่องจักร และอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัวลง และมูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 55.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Eurozone: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกหมวดเครื่องดื่มที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการนำเข้าลดลงของสินค้าทุกหมวด ส่งผลใก้เกินดุลการค้า 23 พันล้านยูโร อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.27 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้น PMI Flash อุตสาหกรรม บริการ รวม เดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 53.4 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากดัชนีย่อยหมวดการจ้างงานใหม่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค flash เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -6.6 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค เช่น HSI (ฮ่องกง) JCI (อินโดนีเซีย) และ PSEi (ฟิลิปปินส์) เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 25 ก.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,740.45 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค. 62 ถึง 58,299 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้า วันที่ 30-31 ก.ค. 62 (เวลาในสหรัฐฯ) ยังคงต้องติดตามการผลการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ว่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed fund rate) ลงตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 5,262 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น 0-1 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางและระยะยาวปรับลดลง 1-10 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจ 2.47 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -8,257 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 25 ก.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่เงินวอนและหยวนแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.09

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ