รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 5, 2019 15:12 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มิ.ย. ปีงบประมาณ 2562 หดตัวร้อยละ -24.9 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มิ.ย. ปีงบประมาณ 2562 ขยายตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน มิ.ย. 62 เกินดุลจำนวน 155.2 พันล้านบาท
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มิ.ย. 62 ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -5.6 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -20.3 ต่อปี
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 62 ขยายตัว ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.98 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน มิ.ย. ปีงปม. 62 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 227.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -24.9 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 9 เดือนแรกที่ร้อยละ 70.5 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 217.1 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -24.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 9 เดือนแรกที่ร้อยละ 71.1 ทั้งนี้แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 183.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -26.6 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 9 เดือนแรกที่ร้อยละ 80.0 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 33.8 พันล้านบาท หดตัว ร้อยละ -8.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 9 เดือนแรก ที่ร้อยละ 41.6 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 10.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -36.9 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม 9 เดือนแรกที่ร้อยละ 59.6 ทั้งนี้รายจ่ายที่สำคัญ ได้แก่ งบอุดหนุนของกรมทางหลวง 6.3 พันล้านบาท งบลงทุนของกรมชลประทาน 5.6 พันล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 5.3 พันล้านบาท

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มิ.ย. ปีงปม. 62 ได้จำนวน 293.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.6 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี จากภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปีเป็นสำคัญ และ (2) รายได้จากหน่วยงานอื่นขยายตัวร้อยละ 69.7 ต่อปี จากรายได้รับจากรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 125.3 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน มิ.ย. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณเกินดุล จำนวน 155.2 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงิน นอกงบประมาณที่ขาดดุล -2.2 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุล 153.0 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 497.4 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มิ.ย. 62 มีมูลค่า 64,690 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ -5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -8.3 โดยเป็นผลจากการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่หดตัวที่ร้อยละ -13.2 จากการลดลงของการนำเข้ารถยนต์และส่วนประกอบเครื่องยนต์เป็นหลัก ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 2 ภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.4

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มิ.ย.62 หดตัวต่อเนื่องร้อยละ -20.3 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -2.9 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาลโดยหดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ร้อยละ -24.8 ต่อปีเป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ผลจากการเร่งโอนเพื่อเลี่ยงมาตรการ LTV ในช่วงก่อนเริ่มบังคับใช้มาตรการ ณ วันที่ 1 เม.ย. ปี 62 ส่งผลต่อยอดการโอนในช่วงหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้าง รวมถึงฐานที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ตาม โดยเฉลี่ยแล้วการโอนในช่วงครึ่งปีหลังจะมีปริมาณมากกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ดังนั้น เมื่อมองในภาพรวมทั้งปีอาจจะมีแนวโน้มไม่แย่เท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,883.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.3 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 18.9 พันล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 89.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96.8 ของยอดหนี้สาธารณะ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 62 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งไตรมาสที่ 2 ของปี 62 ดัชนีฯหดตัวที่ร้อยละ -2.6 ถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่หดตัวร้อยละ -1.2 ต่อปี ทั้งนี้ แหล่งที่มาของการหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ หดตัวร้อยละ -8.4 ผลิตภัณฑ์ยางหดตัวร้อยละ -11.5 กลุ่มน้ำมันปิโตรเลียมหดตัวร้อยละ -7.1 และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่หดตัวร้อยละ -1.1 นอกจากนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัวได้แก่ กลุ่มแอร์ คอมเพรสเซอร์ที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 65.3 ของกำลังการผลิตรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในไตรมาสที่ 2 ปี 62 หดตัวที่ร้อยละ -1.6 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน มิ.ย. 62 ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดปศุสัตว์ที่ ร้อยละ 2.6 ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.1 และ -5.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ไก่ สุกร และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 62 ขยายตัว ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรม ในไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ในเดือน มิ.ย. 62 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวด โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 13.4 และ 0.8 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ค. 62 เท่ากับ 106.6 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -12.4 ต่อปี ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ ประกอบกับความต้องการใช้มีการชะลอตัว ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์ซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผล ทางฤดูกาล ขยายตัวร้อยละ 31.3 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ 3.8 และเขตภูมิภาคที่ร้อยละ 14.2 ส่งผลให้ปริมาณรถจักรยานยนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.98 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากสินค้ากลุ่มอาหารสดที่สูงขึ้นร้อยละ 7.12 สูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะราคาผักและผลไม้ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยลดลงร้อยละ -3.31 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.41 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 7 เดือนของปี 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มิ.ย. 62 เกินดุล 3,923.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางกับเดือนก่อนที่ขาดดุล -376.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มที่ 4,400.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล -477.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 17,421.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 62 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 62 มียอดคงค้าง 19.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด จากดัชนีหมวดย่อยในหมวด backlog orders และหมวดการผลิตที่ลดลงเป็นสำคัญ และเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. 62 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติด้วยคะแนนโหวต 8-2 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 2.00-2.25 ต่อปี

China: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 (NBS) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 49.7จุด จากดัชนีหมวดย่อยผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้น และดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 (Caixin) ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 49.9 จุด จากคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดขายยานยนต์ เชื้อเพลิง และสินค้าทั่วไปหดตัวลง ขณะที่สินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่ม และอาหารขยายตัวเร่งขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตเกือบทุกหมวดหดตัว อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ต่อกำลังแรงงานรวม .จากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 37.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 62 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.10 ต่อปี

South Korea: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตเกือบทุกหมวดหดตัว ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และและจีนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.7 ให้เกินดุลการค้าที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 47.3 จุด จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.5 จุด

Taiwan: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7 จากการที่มูลค่าการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้น ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.1 จุด เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดการผลิตขยายตัวชะลอลง

Malaysia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายชะลอตัวของการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -9.2 ชะลอตัวของการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งทำให้เกินดุลการค้า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI เดือน ก.ค. 62 ลดลงอยู่ที่ระดับ 47.6 จุด จากยอด คำสั่งซื้อและผลผลิตที่ลดลง

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปีจากสินค้าทุกหมวดที่มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าการนำเครื่องดื่ม และน้ำมันพืชลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดยอดขายสินค้าคงทนหดตัวลง ดัชนี PMI เดือน มิ.ย. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.9 จุด

Australia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารและขนส่งที่เร่งขึ้น และดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.3 จุด

UK: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -11.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -13.0 จุด ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 62 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

Eurozone: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ -6.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อน อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

Vietnam: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปะที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยาย ตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากการนำเข้ารถยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นส่งผลให้เกินดุลการค้า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน

Indonesia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาในหมวดเสื้อผ้า การศึกษา และขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับลดลง สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในต่างประเทศ เช่น CSI300 (จีน) HSI (ฮ่องกง) และ PSEi (ฟิลิปปินส์) เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 1 ส.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1,699.75 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 30 ก.ค.- 1 ส.ค. 62 ถึง 53,693 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและเป็นผู้ซื้อสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้ายังคงต้องติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ส.ค. 62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -1,386 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น 0-1 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางและระยะยาวปรับลดลง 1-16 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,113 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 1 ส.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.71

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ