ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนสิงหาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2019 14:51 —กระทรวงการคลัง

“ดัชนี RSI เดือนสิงหาคม 2562 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจที่ยังทรงตัว โดยควรเฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคกลาง โดยเฉพาะในภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ยังมีทิศทางขยายตัวจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2562 ว่า “การประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดล่าสุด จากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ (คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า) ยังทรงตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ยังมีทิศทางขยายตัวจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นปัจจัยสนับสนุน ขณะที่ควรเฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจของภาคกลาง โดยเฉพาะในภาคเกษตร”

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ระดับ 67.8 โดยใน 6 เดือนข้างหน้า จะได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน เช่น สนามบิน เส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สะดวกขึ้น ทำให้เมืองขยายตัว แต่คาดว่าจะมีผู้ประกอบการชะลอการลงทุนในอีกหลายจังหวัด ประกอบกับมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มเติมชดเชยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวน้อยกว่า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ระดับ 65.6 จากแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ดี เนื่องจากมีการส่งเสริมจากภาครัฐ และมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภูมิภาค ในส่วนของภาคบริการ ถึงแม้จะมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งอาจทำให้การท่องเที่ยวลดลงในบางจังหวัดของภาคตะวันออก สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ ยังมีทิศทางการขยายตัวที่ดีอยู่ที่ 63.8 เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มของภาคบริการและภาคการลงทุน โดยภาคบริการคาดว่าขยายตัวเนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่มีปัจจัยฉุดรั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยว สำหรับภาคการลงทุน คาดว่ามีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนบางส่วนยังรอดูนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ระดับ 63.2 โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการบริการและภาคลงทุนเป็นหลัก ในส่วนของภาคการบริการ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการลงทุน คาดว่าปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในทุกภาคส่วน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทำให้ในบางจังหวัดยังมีการชะลอการลงทุนอยู่บ้าง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 62.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการบริการและภาคเกษตรเป็นหลัก โดยคาดว่าภาคบริการจะขยายตัวจากการท่องเที่ยวส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนเพิ่มของผู้ประกอบการเช่นกัน ส่วนภาคเกษตรคาดว่าจะเป็นผลมาจากการคาดการณ์แนวโน้มภาคเกษตรภาพรวม 6 เดือนข้างหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก ประกอบกับมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของการลงทุนในภาคการประมง เกษตรกรยังคงรอดูการสนับสนุนจากรัฐบาล สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 61.1 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ได้อานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ยังคงมีบางจังหวัดที่รายงานว่าจะมีแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง เช่น จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดนนทบุรี ในส่วนของภาคบริการ คาดว่าจะขยายตัวจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล และในภาพรวมมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง ชะลอลงมาอยู่ที่ 56.3 โดยควรเฝ้าระวังสถานการณ์ในภาคเกษตร เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำสำหรับการเกษตรน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับในบางจังหวัดเกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254 หรือ 3223

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ