รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2019 14:50 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากเดือนก่อนหน้าในเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทานมีการขยายตัวในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป”

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม ปี 2562 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากเดือนก่อนหน้าในเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทานมีการขยายตัวในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้น โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวร้อยละ -9.1 ต่อปี จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหากหักปัจจัยพิเศษดังกล่าว จะพบว่า ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้า

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี เช่นเดียวกับภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กเป็นสำคัญ

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนกลับมาขยายตัว โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง และแปรรูป ยางพารา สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2562 เกินดุลที่มูลค่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนกรกฎาคม 2562 พบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัวได้ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวน 3.33 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาขยายตัวในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมูลค่ารวม 167,283 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้งซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการผลิต และเรื่องสงครามการค้าซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 218.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) และ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นเชิงบวก (Positive Outlook) ภายใต้ Rating BBB+ (Fitch) และ Baa1 (Moody’s) ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2562 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน ประกอบกับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้จากเดือนก่อนหน้าในเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการ สำหรับเศรษฐกิจไทยด้านอุปทานมีการขยายตัวในภาคการเกษตรและภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อเดือน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อเดือน เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 31.3 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัวร้อยละ -9.1 ต่อปี จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยหากหักปัจจัยพิเศษดังกล่าว จะพบว่า ยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเดือน สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร แต่การลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อเดือน ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศชะลอตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน เช่นเดียวกับภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวร้อยละ -6.0 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลพบว่าขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อเดือน และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการชะลอตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็กเป็นสำคัญ

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนกรกฎาคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 230.9 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 219.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 189.8 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 29.8 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 11.2 พันล้านบาท

4. เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 9.8 8.0 และ 6.2 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในภูมิภาคกลับชะลอตัว สำหรับสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง และแปรรูป ยางพารา สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคม 2562 เกินดุลที่มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัวได้เล็กน้อย ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่อเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3.33 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนกลับมาขยายตัวในรอบ 5เดือน ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ลาว และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 16.3 และ 6.8 ต่อปี ตามลำดับ และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นมูลค่ารวม 167,283 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ต่อปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการผลิต และเรื่องสงครามการค้าซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี โดยปัจจัยบวกมากจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด ส่วนปัจจัยลบมาจากการหดตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 4.4 แสนคน ขยายตัวที่ร้อยละ 14.0 ต่อปี เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 218.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) และ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นเชิงบวก (Positive Outlook) ภายใต้ Rating BBB+ (Fitch) และ Baa1 (Moody’s) ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2562 สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

ฉบับที่ 54/2562

วันที่ 28 สิงหาคม 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ