Executive Summary
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพืนฐาน เดือน ส.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.52 และ 0.49 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ค. 62 เกินดุล 1,768.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ส.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
- อัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย เดือน ส.ค. 62 มาอยู่ที่ระดับ 60.9
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ41.5 ของ GDP
- GDP ของออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวที่ ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP ของเกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (ปรับปรุง) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ส.ค. 62 สูงขึ้นร้อยละ 0.52 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 5.15 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไข่ ผักและผลไม้ ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงร้อยละ 5.16 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.49 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค. - ส.ค. 62) สูงขึ้นร้อยละ 0.87
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ค. 62 เกินดุล 1,768.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,923.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงที่ 1,692.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนกลับมาเกินดุล 76.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามรายรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 62 เกินดุลรวม 19,189.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 62 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.6 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวที่ร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ค. 62 มียอดคงค้าง 19.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.8 ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ส.ค. 62 เท่ากับ 106.7 หดตัวร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลง ประกอบกับปริมาณการผลิตเหล็กภายในประเทศและปริมาณผลิตเหล็กโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์ซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี ทำให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 62 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนส.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผล ทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -12.5 โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ -4.1 และเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -4.5 อย่างไรก็ดี ปริมาณรถจักรยานยนต์ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ปี 62 ยังขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 62 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,917.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.5 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 34.2 พันล้านบาท ทั้งนี้สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 90.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 96.8 ของยอดหนี้สาธารณะ
ผู้มีงานทำเดือน ส.ค. มีจำนวน 37.7 พันคน หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ -1.5 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจากแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรม พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตร หดตัวที่ร้อยละ -8.5 ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เป็นการหดตัวจากภาคการผลิต 4 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ภาคการก่อสร้างยังขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 และภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 2.1 จากภาคขนส่งและสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.8 แสนคน หดตัวร้อยละ -5.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน ส.ค. 62 ปรับตัวลดลงจากระดับ 62.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 60.9 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 59 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวช้า และสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น
Global Economic Indicators: This Week
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีกว่า จากดัชนีฯ หมวดย่อยในเกือบทุกหมวดที่ปรับตัวลดลง เช่น หมวดการสั่งซื้อใหม่ หมวดการจ้างงาน และหมวดการผลิต เป็นต้น ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) อยู่ที่ระดับ 56.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีหมวดย่อยกิจกรรมทางด้านธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI)รวมอยู่ที่ 50.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด ระดับมูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและอาหารที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าในหมวดยานพาหนะและอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น ทำให้ขาดดุลการค้า 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.9 สะท้อนถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ดัชนีปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการผลิตมีการขยายตัวเร่งขึ้นดัชนีฯ ภาคบริการ (Caixin) เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดย่อยปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีฯ รวมปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.16 จุดจากระดับ 50.9 จุดในเดือนก่อนหน้า
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากการลงทุนที่หดตัวลงขณะที่การบริโภคขยายตัวดี ด้านยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายทุกหมวดสินค้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 19.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.1 ผลจากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น ส่งผลให้เกินดุลการค้า 7.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.1 จุด จากยอดขายและผลผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น และดัชนีฯ ภาคบริการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.4 จุด จากหมวดการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น
ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 53.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.2 จุด จากการขยายตัวของงานใหม่ที่ชะลอลง ส่งผลให้ดัชนี PMI รวม เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่ขยายตัวชะลอลง
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 62 (ปรับปรุง) ขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7 โดยภาคการบริโภค การลงทุนภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกปรับตัวดีขึ้น PMI อุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 49.0 จุด โดยดัชนีหมวดย่อยผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่หดตัวน้อยลง อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ -0.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีหมวยย่อยราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์หดตัว
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยดัชนีหมวดย่อยผลผลิตและยอดขายหดตัว ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด สะท้อนถึงภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวต่อเนื่อง
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 48.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.5 จุด จากการขยายตัวชะลอลงของผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาในหมวดอาหารลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 62 หดตัวร้อยละ -7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าหมวดปีโตเลียมที่หดตัว
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 47.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด จากดัชนีย่อยหมวดความเชื่อมั่นธุรกิจลดลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด จากดัชนีย่อยหมวดกิจกรรมทางธุรกิจที่ลดลง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาในหมวดอาหารและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้น
มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.9 จากเดือนก่อนหน้าทำให้เกินดุลการค้า 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 จุด โดยดัชนีย่อยหมวดจากหมวดธุรกิจและยอดขายที่ชะลอลง ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการ เดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.9 จุด
ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific Index ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 5 ก.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1669.79 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค. 62 ที่ 59,791.66 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ --1,933.50 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นช่วงอายุ 1-6 เดือนปรับลดลง 1 bps ในขณะที่อัตราฯ ระยะยาวช่วงอายุ 2-20ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2-6 bps โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 1.98 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -6,264.45 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 5 ส.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.20 จากสัปดาห์ก่อนหน้า แข็งค่าเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ เช่น ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.05
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง