“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคเหนือ และภาคกลาง ขยายตัวได้เล็กน้อย ทั้งนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี”
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วย นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม ปี 2562 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อน จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคเหนือ และภาคกลาง ขยายตัวได้เล็กน้อย ทั้งนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีในหลายภูมิภาค สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และลำปาง เป็นต้น อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 6,843 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ในจังหวัดนครสวรรค์เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดลพบุรี สระบุรี และอ่างทอง เป็นต้น อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 13.8 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และสิงห์บุรี สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อยู่ที่ 74,591 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานประกอบแบบโครงสร้างสะพานและโครงสร้างอาคารจากโลหะในจังหวัดสระบุรี และโรงงานผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศคนต่างประเทศ ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวดีของการบริโภคภาคเอกชน แต่การการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.1 และ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสงขลา สตูล และตรัง เป็นต้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดียอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี ตามการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ สตูล และนราธิวาส เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ด้านภาคการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศศขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยลดลงที่ร้อยละ -5.5 ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นสำคัญ ในขณะที่ยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 0.6 และ -2.9 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 1,276 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำผลไม้ และน้ำพืชผักในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 2,341 ล้านบาท จากการลงทุนโรงงานทำอาหารผสม หรืออาหารสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ในโรงงานสุพรรณบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน แต่การบริโภคและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะสมุทรปราการ นครปฐม และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น อย่างไรก็ดีการจัดเก็บภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหานครและสมุทรสาครเป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 4,346 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรปราการและปทุมธานี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงที่ร้อยละ -5.4 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจทรงตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 16.6 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดระยอง ชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 2,958 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และชลบุรี เป็นต้น ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ในเดือนสิงหาคม 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนของคนต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวคนไทยลดลงที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนสิงหาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 22 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอตัว การปรับตัวลดลงของการบริโภคภาค การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนสิงหาคม 2562 หดตัวลงเล็กน้อยร้อยละ -0.6 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวลงที่ร้อยละ -1.2 และ -8.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีเงินลงทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ 1,436 ล้านบาท จากการลงทุนเพิ่มในโรงงานเก็บ ลำเลียงเมล็ดพืชหรือผลิตผลจากพืชในไซโล โกดังหรือคลังสินค้าที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2562 ลดลงร้อยละ -5.1 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ฉบับที่ 60/2562
วันที่ 26 กันยายน 2562
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง