นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมหารือ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ตามแนวนโยบาย “ประชารัฐสร้างไทย” ร่วมกับคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี) ในโอกาสเดินทางไปตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ณ โรงแรมริเวอร์แคว จังหวัดกาญจนบุรี โดยในการประชุมดังกล่าวมีการสรุปภาพรวมเศรษฐกิจและศักยภาพของท้องถิ่น จุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละจังหวัด ประกอบการวิเคราะห์แนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด ซึ่งนำไปสู่การหารือถึงบทบาทของกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายแก่หน่วยงานในพื้นที่และภาคเอกชน โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยเริ่มจากระดับฐานรากให้มีพัฒนาการอย่างมั่นคงและแข็งแรงเป็นเสาหลักให้ระบบ เศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งเน้นการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ขับเคลื่อนโดยการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างโอกาสให้ประชาชน เพื่อให้สามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนจะต้องมีบทบาทในการสนับสนุนศักยภาพและต่อยอดจุดแข็งของท้องถิ่นให้เป็นจุดขาย ซึ่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรีและสุพรรณบุรี สามารถยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร การท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์หลากหลายผ่านการประกอบธุรกิจ Home stay หรือ Home lodge และการขยายตลาดผ่านการค้าชายแดน เป็นต้น
ในส่วนของกระทรวงการคลัง นอกจากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดจะมีบทบาทในการพัฒนาเชิงพื้นที่แล้ว สถาบันการเงินของรัฐยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างทางการเงิน สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขับเคลื่อนชุมชนตามแนวนโยบายประชารัฐสร้างไทย ดังนี้
1) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใช้หลักการธุรกิจชุมชนสร้างไทย ค้นหาผู้มีศักยภาพ พัฒนาให้ความรู้ ผสานความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่าย และขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อสร้าง Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ตัวอย่างเช่น การพัฒนาชุมชนผู้ปลูกอ้อย ชุมชนหนองสาหร่ายในจังหวัดกาญจนบุรี การพัฒนาการเลี้ยงโคนมของชุมชนบ้านหมู่ใหญ่ดงยาง จังหวัดราชบุรี
2) ธนาคารออมสินมีการดำเนินการตามหลัก 3 ออมเพื่อมุ่งสู่ 3 สร้างคือ สร้างความรู้และอาชีพ
สร้างตลาดและรายได้ และสร้างประวัติทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและบรรเทาปัญหาความยากจนในพื้นที่ เช่น การพัฒนากลุ่มหัตถกรรมทำมือตำบลพงดึก ภายใต้โครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น
3) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ดำเนินการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐและกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ให้มีรายได้ เงินทุนหมุนเวียน และรักษาการจ้างงานในพื้นที่
4) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองและมีที่อยู่อาศัยเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ ผ่านการให้สินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนต่างๆ
5) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้การสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของภาครัฐโดยเน้นด้านการ ท่องเที่ยว และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามยุทธศาสตร์ National e-Payment
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์และกรมศุลกากรได้รายงานข้อมูลการดำเนินงานในพื้นที่ พร้อมทั้งศักยภาพของจังหวัดกาญจนบุรี โดยเฉพาะการกระจายความเจริญและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ตามแนวชายแดน
ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการค้าชายแดนในพื้นที่ดังกล่าวโดยสนับสนุนให้เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น กระทรวงการคลังและหน่วยงานในพื้นที่พร้อมสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินการคลัง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถทางการค้าและการลงทุนในพื้นที่ผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีช่องทางหลากหลายและทั่วถึง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 02-273-9020 ต่อ 3270
ที่มา: กระทรวงการคลัง