Executive Summary
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 62 หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน ต.ค. 62 หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ต.ค. 62 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.2 จากระดับ 92.1 ในเดือนก่อนหน้า
- นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนต.ค. 62 มีจำนวน 3.04 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวจีนขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 62 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วง9 เดือนแรกของปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 โดยด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการ กีดกันทางการค้า ในส่วนของด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่การผลิตสาขาการขายส่งขายปลีก การก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้าชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าหน้า ส่วนสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. 62 มีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกบางรายการสินค้าสำคัญยังมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกที่ขยายตัวในเดือนดังกล่าว ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรก ปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน ต.ค. 62 มีมูลค่า 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ -7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่หดตัวได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าทุน และยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งยังขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าช่วง 10 เดือนแรกปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ต.ค. 62 ยังคงเกินดุลมูลค่า 506.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 7.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนต.ค. 62 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 91.2 จากระดับ 92.1 ในเดือนก่อนหน้า ลดลงต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ค. 61 ที่อยู่ระดับ 90.2 โดยมีสาเหตุมาจากการปรับตัวลดลงทุกรายการ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อระดับภูมิภาคที่ชะลอตัวลง รวมถึงผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ข้อพิพาททางการค้า และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาลดลง สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 102.9 จากระดับ 103.4 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก รวมถึงการที่ไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิ์พิเศษทางภาษีศุลกากร แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกในเดือนนี้ ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออกมียอดขายและคำสั่งซื้อเพิ่ม เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเพื่อรองรับเทศกาลช่วงปลายปี
นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ต.ค. 62 มีจำนวน 3.04 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยเป็นผลจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี เป็นสำคัญ และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวอินเดีย เกาหลี และมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 37.9 , 14.4 และ 7.0 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน ต.ค. 62 มีมูลค่ารวม 147,801 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี โดยเป็น การขยายตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัว ร้อยละ 23.0 ต่อปี เป็นสำคัญ
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 62 มีจำนวน 30,327 คัน หดตัวที่ร้อยละ -7.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -2.7 โดยเป็นผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากหนี้ NPL สินเชื่อรถยนต์เพิ่มขึ้น จากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 62 มีจำนวน 46,794 คัน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ร้อยละ -13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 9.0 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ตามการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ร้อยละ -14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางส่วนที่ชะลอการซื้อในเดือนก่อนหน้าเนื่องจากรอการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในงานมอเตอร์โชว์ช่วงปลายเดือน พ.ย. จนถึงต้นเดือน ธ.ค.62 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกที่จะช่วยเสริมการเติบโตของยอดรถยนต์เชิงพาณิชย์ในช่วงที่เหลือของปีได้ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Global Economic Indicators: This Week
ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยอดค้าปลีกในหมวดยานยนต์ที่ชะลอลง ด้านยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว จากยอดสร้างบ้านประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมส์ และคอนโดมิเนียม ที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดใบอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวทั้งการสร้างบ้านประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮมส์ และคอนโดมิเนียม ขณะที่ด้านผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากผลผลิตในหมวดสินค้าคงทนและเชื้อเพลิงที่หดตัวสูง
มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.2 โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนหดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.8 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 17.3 ล้านล้านเยน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีราคาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เร่งขึ้นร้อยละ 0.4 1.2 และ 4.2 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีราคาหมวดเชื้อเพลิงและนันทนาการหดตัวที่ร้อยละ -0.8 และ -7.8 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ -7.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ -7.6
มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากสินค้าเกือบทุกประเภทที่ชะลอตัวลงยกเว้นสินค้าประเภทน้ำมันที่หดตัวน้อยลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.8 จากสินค้าประเภทการขนส่งและถ่านหินที่หดตัวสูง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.59 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาสินค้าครึ่งหนึ่งเพิ่มขึ้น อีกครึ่งหนึ่งลดลง โดยมีสินค้าประเภทบริการอย่างเดียวที่ทรงตัว
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 5 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี หลังจากมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25 Bps อย่างต่อเนื่องติดกันมา 4 เดือน การคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยให้แบงค์พาณิชย์ปล่อยกู้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ
อัตราว่างงาน เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อัตราว่างงานร้อยละ 3.0 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.2 โดยดัชนีราคาหมวดเสื้อผ้าหดตัวเร่งขึ้น
ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) STI (สิงคโปร์) และ KOSPI (เกาหลีใต้) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 21 พ.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1,591.86 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 62 ที่ 46,582 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 421 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-6 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจถึง 1.32 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 470 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 พ.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.04 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน ยูโร และ ดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.04
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง