รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 ธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2019 14:13 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 62 คิดเป็น 1.95 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาส 3 ปี 62 (ปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. 62 คิดเป็น 1.95 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวในอัตราชะลอลงตามความต้องการใช้งานปูนซีเมนต์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเดือนเมื่อปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ในรอบ 11 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศหดตัวร้อยละ -5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน พ.ย. 62 เพิ่มขึ้น 2.7 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการศึกษาและสุขภาพ และหมวดการผลิตสินค้า และอัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากราคาสินค้าในหมวดนันทนาการ และหมวดการศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

China: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ 3.8 โดยราคาอาหารและยาสูบขยายตัวเร่งขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร ไว้ที่ร้อยละ -0.5 ร้อยละ 0.25 และร้อยละ 0.0 ตามลำดับ นอกจากนี้ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน .ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตสินค้าช่วงกลางที่ลดลง

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 3 ปี 62 (ปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.4 และ 4.8 ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวในหมวดธุรกิจที่ใช้เครื่องจักร อุปกรณ์การขนส่ง และกระดาษที่ร้อยละ -16.3 -9.2 และ -9.9 ตามลำดับ

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.1 จากยอดขายคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

Indonesia: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยยอดขายหมวดอาหาร และเครื่องเขียนเพิ่มขึ้น

Malaysia: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.7 จากการผลิตเหมืองแร่ ผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม และไฟฟ้าที่ลดลง ยอดค้าปลีกเดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากยอดขายทุกประเภทที่ลดลง ขณะที่อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการทรงตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 ปี 2562

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม

Taiwan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 โดยการส่งออกไปยังฮ่องกงขยายตัวในอัตราสูง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ย. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ระดับ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหัรฐ

Philippines: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -1.2 โดยมูลค่าส่งออกสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวลงที่ร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์เครื่องจักรหดตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี

India: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.54 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.62 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -4.0

UK: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.0 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 5.19 พันล้านปอนด์ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดการทำเหมืองแร่ น้ำมัน และการสกัดก๊าซที่ลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 12 ธ.ค. 62 ปิดที่ระดับ 1563.85 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 9 - 12 ธ.ค. 62 ที่ 48,941.83 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 ธ.ค. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -2,248.59 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-2 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 9-12 ธ.ค. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,583.82 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 12 ธ.ค. 62 เงินบาทปิดที่ 30.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินวอนและเงินหยวน เงินเยน ยูโร ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าในระดับเดียวกันกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัวร้อยละ 0.0

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ