รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 28, 2020 14:52 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -18.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวที่ ร้อยละ -22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ธ.ค.62 หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. ปีงปม. 63 หดตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ธ.ค. 62 ขาดดุลจำนวน -45,739 ล้านบาท
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ธ.ค. 62 มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ ทองคำ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา เป็นต้น ขณะที่ การส่งออกบางรายการสินค้าสำคัญยังมีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่อง อาทิ รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องสำอาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังคงมีสัญญาณหดตัว ขณะที่ การส่งออกไปยัง สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกในภาพรวมปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ธ.ค. 62 มีมูลค่า 18,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และอาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ ขณะที่ กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หดตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในภาพรวมปี 62 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 62 ยังคงเกินดุลมูลค่า 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้งปี 62 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ธ.ค. 62 มีจำนวน 3.93 ล้านคน ขยายตัวที่ ร้อยละ 2.5 ต่อปี (และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า หดตัวลดลงที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) โดยเป็นผลจาก การขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อปี เป็นสำคัญ และนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 6.2 3.6 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติใน เดือน ธ.ค. 62 มีมูลค่ารวม 192,836 ล้านบาท หดตัวที่ ร้อยละ -2.2 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หดตัวร้อยละ -6.4 เป็นสำคัญ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ธ.ค. 62 มีจำนวน 32,766 คัน หดตัวที่ร้อยละ -18.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -7.4 ถึงแม้ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจองรถในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 36 หรือ Motor Expo 2019 แต่ตลาดรถยนต์ยังคงได้รับผลจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งอีโคคาร์ของหลายบริษัทด้วย สะท้อนจากยอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งปี 62 หดตัวเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 62 มีจำนวน 56,519 คัน หดตัวที่ร้อยละ -22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่ำสุดในรอบ 56 เดือนและหดตัวร้อยละ -9.8 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ตามการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ร้อยละ -23.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และจากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ ถึงแม้จะมีการเปิดตัวรถกระบะรุ่นใหม่ในบางบริษัทก็ตาม ทำให้ในไตรมาสที่ 4 และในปี 62 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -18.0 และ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในปี 62 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 62 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญที่ร้อยละ -4.8 ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และ 42.5 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร และไข่ไก่

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในปี 62 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน ธ.ค. 62 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 6.4 และ 1.9 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ธ.ค. 62 มีมูลค่า 66,851 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังคงได้รับอนิสงค์จากมาตรการชิมช้อปใช้ผ่านการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวร้อยละ -5.5 จากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงตามเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนธ.ค.62 หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ที่ร้อยละ -15.0 ต่อปีเป็นสำคัญ เป็นผลมาจากฐานสูงในปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการเร่งโอนช่วงปลายปีเพื่อเลี่ยงมาตรการ LTV รวมถึงการชะลอการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคในประเทศ และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้ในไตรมาสที่ 4 และในปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -7.4 และ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ธ.ค. ปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 260,557 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี ทำให้ไตรมาสแรกของปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ 810,083 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 24.8 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 227,319 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี หรือไตรมาสแรกเบิกจ่ายได้ 729,489 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 24.3 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 217,561 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี และไตรมาสแรกเบิกจ่ายได้ 703,491 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 29.2 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 9,758 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -69.0 ต่อปี โดยไตรมาสแรกเบิกจ่ายได้ 25,998 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 4.4 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 33,238 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 40.2 ต่อปี โดย 3 เดือนแรกเบิกจ่ายได้ 80,594 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 30.6 ต่อปี

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ธ.ค. ปีงปม. 63 ได้จำนวน 191,806 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -4.9 ต่อปี โดยมาจาก(1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี แต่(2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -26.1 ต่อปี ทำให้ไตรมาสแรกของปี งปม. 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 605,768 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ธ.ค. 62 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -45,739 ล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล -5,020 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -50,759 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ 316,370 ล้านบาท ทำให้ไตรมาสแรกปี งปม. 63 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -163,865 ล้านบาท และเงินคงคลังอยู่ที่ระดับ 316,370 ล้านบาท

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 16.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากยอดสร้างบ้านแบบคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวที่ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าสวนทางกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 62 ที่หดตัวร้อยละ -3.9 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขณะที่เดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยที่บ้านแบบคอนโดมิเนียมหดตัวสูงสุดที่ร้อยละ -11.1 จากเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคากลางบ้าน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ 281,180 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)ผลจากราคาบ้านในเกือบทุกภูมิภาคของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากเดือนก่อหน้า

Taiwan: improving economic trend

GDP ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 (ล่วงหน้า) ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ GDP ทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 ทรงตัวจากปี 61 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 โดยภาคการผลิตขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าทั่วไปหดตัวสูง (General Merchandise) อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม

Eurozone: mixed signal

ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร ไว้ที่ร้อยละ -0.5 ร้อยละ 0.25 และร้อยละ 0.0 ตามลำดับ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(เบื้องต้น) เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -8.1 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Japan: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 62 หดตัวร้อยละ -8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดเหล็ก โลหะ และเคมีภัณฑ์ที่หดตัวเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -7.9 เดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดสินค้าเคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกลที่หดตัวน้อยลง

ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ -15.7 เดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดสินแร่และเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลและเคมีภัณฑ์ที่หดตัวน้อยลง ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 62 ที่ 1.5 แสนล้านเยนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดอาหารเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 63 ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี

UK: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยราคาสินค้าในหมวดสุขภาพ การสื่อสาร และ ร้านอาหารคงที่

South Korea: improving economic trend

GDP ณ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 (ล่วงหน้า) ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ) ส่งผลให้ GDP ทั้งปีขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 โดยราคาหมวดขนส่ง และการสื่อสารรเพิ่มขึ้นมากที่สุด ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -8.9 จากผลผลิตโลหะพื้นฐาน และเครื่องหนังที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: mixed signal

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 62 ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 เดือน หลังการปรับลงอัตราดอกเบี้ยจมาที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมเดือน ก.ย. 2019

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ GDP ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2

Hong Kong: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีหมวดย่อยสินค้าเครื่องดื่มปรับตัวลง

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.1 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาลดลงและ Part Time เพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ณ วันที่ 23 ม.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,573.70 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 20 - 23 ม.ค. 63 ถึง 67,365 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้า ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 28-29 ม.ค. 63 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 20 - 23 ม.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -196 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 0-3 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 20 - 23 ม.ค. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,384 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 23 ม.ค 63 เงินบาทปิดที่ 30.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.49 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่เงินเยนและริงกิตแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล โดยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.38

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ