รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 29, 2020 13:38 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2562 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2562 พบว่า “เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัวร้อยละ -18.7 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -17.3 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 56.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าของไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยชะลอตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -22.9 ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างสะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ทองคำ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่ม เครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย พบว่า หลายประเทศมีการส่งออกชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2562 ยังคงเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.93 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียขยายตัวถึงร้อยละ 12.4 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และจีน ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไวตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2562 ได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าแม้ว่าจะยังชะลอตัวแต่มีการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจด้านการผลิตสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรชะลอตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวถึงร้อยละ 4.9 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัวร้อยละ -18.7 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่ายังคงชะลอตัวที่ร้อยละ -7.4 เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวที่ร้อยละ -17.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าชะลอตัวที่ร้อยละ -5.5 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงจากระดับ 56.4 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 56.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าของไทยตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยชะลอตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.4 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -22.9 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าชะลอตัวร้อยละ -9.8 ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงชะลอตัว โดยยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าชะลอตัวร้อยละ -5.5 สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัว ที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากการหดตัวของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนธันวาคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 260.6 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 227.3 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 217.6 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 9.8 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 33.2 พันล้านบาท ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 729.5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 703.5 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 26.0 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 80.6 พันล้านบาท

4. เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ทองคำ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 16.1 15.6 9.8 และ 7.3 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2562 ยังคงเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย พบว่า หลายประเทศมีการส่งออกชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น มีการชะลอตัวที่ร้อยละ -5.2 -4.9 และ -3.7 ต่อปี ตามลำดับ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนธันวาคม 2562 มีจำนวน 3.93 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียขยายตัวได้ถึงร้อยละ 12.4 ต่อปี นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย และ จีน ที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.8 เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 3.5 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 92.3 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงภาคการส่งออกที่ยังชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาข้าวสารและเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ