“เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป ขยายตัวเป็นบวกในเกือบทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งได้รับผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี”
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคม 2562 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2562 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป ขยายตัวเป็นบวกในเกือบทุกภูมิภาค ส่วนหนึ่งได้รับผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ควรติดตามสถานการณ์การท่องเที่ยว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้ ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว จากการลงทุนภาคเอกชนและการท่องเที่ยวจากชาวต่างประเทศ อย่างไรก็ดีการบริโภคสินค้าคงทนลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 1,040 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 26.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอยในจังหวัดกระบี่เป็นสำคัญ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวร้อยละ 20.3 จากการลงทุนเพิ่มในจังหวัดสงขลา อย่างไรก็ดีจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -21.5 และ -7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ สุราษฎร์ธานี ระนอง และปัตตานี เป็นต้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ -0.03 ขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว จากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปและการท่องเที่ยวขยายตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ อุตรดิตถ์ ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสันบสนุนจากกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการชิม ช็อป ใช้ เป็นต้น บ่งชี้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคเหนือที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.4 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 44.1 อย่างไรก็ดีการบริโภคในหมวดสินค้าทนยังคงชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ –34.1 และ -18.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -37.5 และ -29.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวร้อยละ 132.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในจังหวัดลำปางและเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่าจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว จากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปและการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศขยายตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคสินค้าคงทนลดลง สะท้อนจากด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย และมุกดาหาร สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.7 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 46.1 อย่างไรก็ดีการบริโภคในหมวดสินค้าทนชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ –28.2 และ -28.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -31.4 และ -21.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ -66.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 อย่างไรก็ดีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจทรงตัว จากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปและการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศขยายตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคสินค้าคงทนลดลง โดยการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ ชลบุรี ระยอง และสระแก้ว เป็นต้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสันบสนุนจากกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ มาตรการชิม ช็อบ ใช้ เป็นต้น บ่งชี้ว่าการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดีการบริโภคในหมวดสินค้าทนยังคงชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -17.6 และ -12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -14.5 และ -12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในจังหวัดจันทบุรี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี แต่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนธันวาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 26 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 110.7 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัว จากการบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัว แต่ภาคการท่องเที่ยวจากชาวต่างประเทศขยายตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวลงที่ร้อยละ -26.4 และ -20.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ แต่การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าของประชาชนยังคงขยายตัวสะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวร้อยละ 16.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -17.6 และ -23.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและเงินลงทุนที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 891 และ 745 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 31.5 และ 535.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ จากการลงทุนในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนชาวต่างชาติขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 อย่างไรก็ดีรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปรับตัวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจชะลอตัว จากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคสินค้าคงทน และการท่องเที่ยวชะลอตัว แต่การจับจ่ายใช้สอยทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ -15.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับจำนวนรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ หดตัวร้อยละ -38.8 อย่างไรก็ดี จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 32.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทปราการ เป็นต้น สอดคล้องกับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ในเดือนธันวาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวในจังหวัดนนทบุรี สมุทรสาคร และปทุมธานี อย่างไรก็ตาม การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงที่ร้อยละ -27.1 และ -11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากผู้เยี่ยมเยือนหดตัวลงร้อยละ -5.5 ต่อปี โดยมาจากรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติและคนไทยหดตัวร้อยละ -5.8 และ -4.3 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นหมอกควันทำให้มีนักท่องเที่ยวลดลง ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจชะลอตัว จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวชะลอตัวลง สะท้อนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ พบว่าการลงทุนภาคเอกชนมีปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ -38.4 และ -6.8 ต่อปี อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 79.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนธันวาคม 2562 หดตัวลงที่ร้อยละ -35.1 และ -15.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในเดือนธันวาคม 2562 พบว่ารายได้จากผู้เยี่ยมเยือนหดตัวลงร้อยละ -4.2 ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวลดลงของรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ร้อยละ -4.4 และ -3.2 ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 องกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง