รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 - 31 มกราคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 5, 2020 11:43 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี
  • GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 28-29 ธ.ค. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50-1.75 ต่อปี
  • เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 63 ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค. 62 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 3.5 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ดัชนีฯ หดตัวที่ร้อยละ -6.9 ส่งผลทั้งปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน ธ.ค. มาจากการหดตัวของหมวดอาหารหดตัวที่ร้อยละ -6.8 หมวดยานยนต์หดตัวที่ ร้อยละ -19.0 และหมวดน้ำมันปิโตรเลียมหดตัวที่ร้อยละ -3.9 ส่วนแหล่งที่มาของการหดตัวทั้งปี 2562 มาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เป็นสำคัญ ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการหดตัวของดัชนีฯ หมวดยานยนต์และปิโตรเลียมใน ปี 2562 เป็นปัจจัยชั่วคราวที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนโมเดล รถรุ่นใหม่ และการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นปิโตรเลียม จึงทำให้ในปี 2562 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ 64.0 ในเดือน ธ.ค. และร้อยละ 66.3 ในปี 2562

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ธ.ค. 62 กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -3.8 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยมาจากเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างขยายตัวได้ดี เช่น เหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กลวด ที่ขยายตัวร้อยละ 21.6 และ 27.1 ต่อปีตามลำดับ จากความต้องการใช้งานในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 4 และในปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -3.9 และ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในปี 62 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ระดับผลจากยอดขายในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หดตัวถึงร้อยละ -15.4 และ -11.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ตามลำดับ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.2 และเมื่อวันที่ 28-29 ธ.ค. 62 คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50-1.75 ต่อปี

China: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.0 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีย่อยหมวดการผลิตปรับตัวลดลง

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ -8.1 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ของกำลังแรงงานรวมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.5 ของกำลังแรงงานรวม

Japan: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 39.1 จุด ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตในหมวดเครื่องจักรกลเป็นสำคัญ ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

UK: mixed signal

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 63 ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17

South Korea: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 104.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 100.5 สูงสุดในรอบปีครึ่ง ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายรถยนต์ อาหาร และเชื้อเพลิงรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ

Singapore: mixed signal

อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

Hong Kong: improving economic trend

มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.4 โดยการส่งออกไปจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.7 มูลค่าการนำเข้าเดือน ธ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.9 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Australia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอยู่ในหมวดต้นทุนค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ

Taiwan: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 85.3 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 84.28 จุด โดยครัวเรือนส่วนมากมองว่าสภาวะทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

Vietnam: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากยอดขายในเกือบทุกหมวดที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -14.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปีจากกการส่งออกสินค้าในเกือบทุกหมวดที่หดตัว โดยเฉพาะหมวดกาแฟและยางที่หดตัวมากที่สุดด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวลดลงที่ร้อยละ -11.3 ต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปีจากการนำเข้าสินค้าเกือบทุกหมวดทุกหดตัวโดยเฉพาะหมวดรถจักรยานยนต์และปิโตรเลียมที่หดตัวมากที่สุดส่งผลให้ขาดดุลการค้า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาสินค้าในหมวดขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากผลผลิตในหมวดสินค้าคอมเพรสเซอร์แอร์ที่หดตัวต่ำสุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ณ วันที่ 30 ม.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,523.99 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 27 - 30 ม.ค. 63 ถึง 63,563 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และ นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ สำหรับในสัปดาห์หน้า ติดตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 5 ก.พ. 63 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 ม.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -7,415 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-8 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 27 - 30 ม.ค. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 2,112 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 30 ม.ค 63 เงินบาทปิดที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -2.44 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินยูโร ริงกิต วอน และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -2.16

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ