รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 21 กุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 24, 2020 15:08 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 62 ขยายตัว ร้อยละ 2.4
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ม.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 92.2 จากระดับ 91.7 ในเดือนก่อนหน้า
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 4 ปี 62 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 4 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่ 3 ปี 62 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 โดยด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาล ปรับตัวลดลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบ จากมาตรการกีดกันทางการค้า ในส่วนของด้านการผลิต การผลิตสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่งและการขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตรกรรม สาขาก่อสร้างและสาขาไฟฟ้าปรับตัวลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนม.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 92.2 จากระดับ 91.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจาก ค่าดัชนีลดลงในเดือนก่อน ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นมาจากการกลับมาผลิตหลังจากที่มีวันหยุดต่อเนื่องในเดือนธันวาคม สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99.4 จากระดับ 100.1 เนื่องจากผู้ประกอบการ มีความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ โดยเฉพาะในภาคเกษตร รวมทั้งการระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อการท่องเที่ยว การส่งออก และเศรษฐกิจภายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 63 มีจำนวน 30,331 คัน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 37.1 ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบจากการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อที่มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนรุ่นรถยนต์นั่งอีโคคาร์ของหลายบริษัทด้วย สะท้อนจากยอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลงเช่นกัน

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนม.ค. 63 มีจำนวน 41,357 คัน หดตัวที่ร้อยละ -13.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับมาขยายตัวร้อยละ 11.9 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล ตามการหดตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ร้อยละ -16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญ มาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ -3.6 จากเดือนก่อนหน้า จากยอดสร้างบ้านทุกประเภทที่หดตัวจากเดือนก่อนหน้ายกเว้นประเภทคอนโดมีเนียมที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.2 จากเดือนก่อนหน้า จากยอดใบอนุญาตฯสร้างบ้านทุกประเภทที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ระดับผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่ำลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.7 จากผลผลิตในหมวดเชื้อเพลิง และและเครื่องมือเครื่องจักรที่หดตัวต่ำที่สุด ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกที่ชะลอลงในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าปลีกที่ไม่ใช่ร้านค้า ที่หดตัวต่ำที่สุด

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค(เบื้องต้น) เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ -6.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -8.1 มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากทุกหมวดสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น .ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดอาหาร เครื่องดืม และเคมีภัณฑ์เป็นสำคัญ ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 23.1 พันล้านยูโร

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.5 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.2 ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 1.13 ล้านล้านเยน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.8

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.0 จากราคาขนส่งและสินค้าเบ็ดเตล็ดที่เพิ่มขึ้น

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.28 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าราคาน้ำมันและแก๊สลดลง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมันและแก๊สเป็นสำคัญ ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.75 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ของกำลังแรงงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาเพิ่มขึ้นและคนที่หางาน Part time ลดลง

UK: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดขนส่งและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ ด้านยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากทุกหมวดสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นหมวดเชื้อเพลิง

Singapore: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7 ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.28 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าราคาน้ำมันและแก๊สลดลง ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมันและแก๊สเป็นสำคัญ ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ของกำลังแรงงานรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 โดยราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน ดัชนี SET ณ วันที่ 20 ก.พ. 63 ปิดที่ระดับ 1,491.24จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 17 - 20 ก.พ. 63 ที่ 61,510.54 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17 - 20 ก.พ. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,480.12ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-15 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 15 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 1.32 เท่าของวงเงินประมูลทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17 - 20 ก.พ. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,174.87ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 20 ก.พ. 63 เงินบาทปิดที่ 31.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงขึ้นร้อยละ 0.59 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน เงินยูโร ริงกิต วอน หยวน และดอลลาร์สิงคโปร์ต่างอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนเช่นเดียวกัน ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.13

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ