รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 6 มีนาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 10, 2020 14:23 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ของ GDP
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ ร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.พ. 63 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 63 เกินดุล 3,444.4 ดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5 percentage point อยู่ที่ร้อยละ 1.00-1.25 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,983,202 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.3 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 29,265 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 92.2 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -1.2 โดยเป็นการหดตัวทั้งในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ -3.6 และเขต กทม. ที่ร้อยละ -4.0 โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอลง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มากขึ้นจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.พ. 63 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะอาหารสด ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และข้าวสาร ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งเป็นสำคัญ สำหรับหมวดพลังงานกลับมาหดตัวอีกครั้ง จากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ เมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน ก.พ. 63 สูงขึ้นร้อยละ 0.6

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 63 เกินดุล 3,444.4 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 4,108.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลที่ 3,061.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 383.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการนำเข้าที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา เกินดุลรวม 39,313.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 63 มียอดคงค้าง 18.2 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวทรงตัว ในขณะที่สินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจหดตัวที่ร้อยละ -0.4 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 63 มียอดคงค้าง 20.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.02 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.0 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.พ. 63 เท่ากับ 105.2 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 โดยมีสาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี จากความต้องการผลิตภัณฑ์เหล็กในหมวดก่อสร้าง และต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สถานการณ์ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงต้นปี 2563 ยังคงหดตัวตามแรงกดดันของเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรามาตรการผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value : LTV) และการขยายระยะเวลาการโอนอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนภาคการก่อสร้างในประเทศให้ดีขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 50.1 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.9 จากเกือบทุกดัชนีที่ลดลงยกเว้น Backlog of Orders Index กับ Suppliers Deliveries Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 57.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนีเกือบทุกหมวดเพิ่มขึ้นยกเว้นหมวดกิจกรรมทางธุรกิจ และการนำเข้าที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 63 ธนาคารกลางสหรัฐฯได้แถลงการณ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5 percentage point อยู่ที่ร้อยละ 1.00-1.25 ต่อปีเนื่องจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของ Covid-19 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการจ้างงานเต็มกำลัง และระดับราคาที่มีเสถียรภาพ

China: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน ก.พ. 63 ปรับตัวลดลงอย่างมากจากที่ระดับ 51.1 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 40.3 จุด ต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 47 สะท้อนถึงการ หดตัวที่รุนแรงของภาคการผลิต ดัชนี PMI ภาคบริการ (Caixin) เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 26.5 จุด ปรับตัวลดลงมากจากระดับที่ 51.8 จุด จากผลกระทบของ Covid-19 ยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดขายการส่งออกหดตัวลง

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.9 จุด จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน. ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.5 จากธุรกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 38.4 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าทีอยู่ระดับ 39.1 เป็นค่าที่ต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ การปรับลดลงของดัชนีฯ เป็นผลมาจากการจ้างงาน การประเมินการเติบโตของรายได้ และการซื้อสินค้าคงทนที่ลดลง

South Korea: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี ส่งผลให้ทั้งปี 62 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปีขณะที่ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.7 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ทีระดับ 49.8 จุด อันเป็นผลมาจาก COVID-19 ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อ เดือนก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Australia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ทั้งปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ทั้งนี้ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียอย่างมีนัยสำคัญ

Indonesia: improving economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.3 จุดขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.98 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าประเภท อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ

Singapore: worsening economic trend

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 47 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 เป็นสำคัญ

Hong Kong: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าหมวดเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับและนาฬิกาข้อมือหดตัวมาก ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 33.1 จุดปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.8 จุด โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ และการผลิตหดตัวสูงสุดในประวัติการณ์

UK: mixed signal

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.0 จุด จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 53.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.9 จากคำสั่งซื้อต่างประเทศที่ลดลง

Malaysia: mixed signal

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจาก Covid-19 ในจีนนำไปสู่การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.7 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.5 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 1.2 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Philippines: mixed signal

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 63 หดตัวร้อยละ - 6.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Taiwan: worsening economic trend

ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.9 จุดจากที่ระดับ 51.8 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่หดตัว

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ณ วันที่ 5 มี.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,390.83 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 2 - 5 มี.ค. 63 ที่ 67,453 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2-5 มี.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -12,707 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุปรับลดลง 2-9 bps โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีมีนักลงทุนสนใจ 4.03 เท่า ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 2 - 5 มี.ค. 63 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -11,052 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 5 มี.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.04 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้เคียงกับเงินหลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนที่ 115.29

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ