มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) “มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)”
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวความพร้อมของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ “มาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)” ซึ่งเป็นมาตรการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยระบุว่า แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยขอให้ผู้ที่มาลงทะเบียน ควรจะใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อสื่อสารถึงท่านได้ เพื่อระบบจะได้แจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิตามมาตรการให้แก่ท่านผ่านทางข้อความ SMS ได้ ในส่วนของการรับเงินเยียวยา จะสามารถรับได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ บัญชีธนาคารที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน หรือพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ระบบจะสามารถดำเนินการให้จ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีของท่านได้เร็วสุดภายใน 7 วันทำการ อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยา 5,000 บาทนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ดังนั้นหากผู้ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังก็พร้อมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป
หากไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ขอความร่วมมือให้ขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดในการช่วยลงทะเบียนออนไลน์ได้ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1144
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3558 3563 3557 3569 3556
ที่มา: กระทรวงการคลัง