รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2020 15:23 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่”

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้า คงทน จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -15.4 และ -3.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -10.2 และ -18.1 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -1.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.0 ขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -18.8 ต่อปี และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาลดลงร้อยละ -4.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัยออกแล้ว พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 1.5 นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง และอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 16.4 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.06 ล้านคน หรือลดลงตัวร้อยละ -42.8 ต่อปี จากการลดลงในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่ลดลงถึงร้อยละ -84.9 และนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ อาทิ นักท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่ลดลงร้อยละ -72.6 -54.8 และ -39.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อาหารทะเลแช่แข็ง และอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เป็นต้น ในขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.2 ตามการลดลงในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 229.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มีสัญญาณชะลอตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมมีสัญญาณชะลอตัวจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัวได้ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังมีสัญญาณทรงตัว สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ปรับตัวชะลอตัวที่ร้อยละ -15.4 และ -3.7 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.5 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนการทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวร้อยละ -10.2 และ -18.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวชะลอลงร้อยละ -1.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงร้อยละ -18.8 ต่อปี หรือลดลงร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูลกาลแล้ว ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.0 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เบิกจ่ายได้จำนวน 186.4 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 168.7 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 161.8 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 6.9 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 17.7 พันล้านบาท ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกในปีงบประมาณ 2563 มีการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 1,090.3 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,049.4 พันล้านบาท รายจ่ายลงทุน 40.9 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 123.2 พันล้านบาท

4. เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาชะลอตัวลงที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับปัจจัยฐานสูงของอาวุธในการซ้อมรบในช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธ ยุทธปัจจัยออกแล้ว พบว่าการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.7 และ 3.2 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ลดลงที่ร้อยละ -37.0 -11.1 และ -2.0 ต่อปี ตามลำดับ แต่การส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 16.4 และ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ -4.3 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกินดุล 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่าภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงมาก ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 2.06 ล้านคน หรือลดลงร้อยละ -42.8 ต่อปี โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ -84.9 ต่อปี สอดคล้องกับนักท่องเที่ยวประเทศอื่น ๆ อาทิ นักท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่ลดลงร้อยละ -72.6 -54.8 และ -39.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -4.5 ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล อาทิ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ภัยแล้ง เช่นเดียวกันกับภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวเช่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ชะลอตัวร้อยละ -5.2 ต่อปี จากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ น้ำตาล และเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ดี ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค อาหารทะเลแช่แข็ง และอุตสาหกรรมเบียร์ โดยขยายตัวร้อยละ 40.4 26.6 และ 15.3 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวลดลงจากความกังวลต่อกำลังซื้อที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงาน) อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 41.3 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 229.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ