“เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคใต้ยังมีสัญญาณบวกจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน"
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคใต้ยังมีสัญญาณบวกจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคตะวันออก ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังขยายตัวได้จากภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ส่วนหนึ่งได้รับผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การกระตุ้นการลงทุนผ่านมาตรการภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานจากภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง สะท้อนจาก จำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่ลดลงที่ร้อยละ -41.2 และ -47.2 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงทั้งนักท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติและคนไทย อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 28 ติดต่อกัน ที่ระดับ 109.1 สำหรับด้านอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้จากภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี สะท้อนถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภูมิภาคที่ขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเนื่องจากรายได้เกษตรกรขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.1 ต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชน วัดจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ มีเงินลงทุนอยู่ที่ 2,442.8 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 39.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดชลบุรี จำนวน 1,343 ล้านบาท จากโรงงานประกอบชิ้นงานที่ทำด้วยโลหะ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจำนวน 2,707.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากพลาสติกด้วยเงินลงทุนจำนวน 1,389 ล้านบาท ในจังหวัดระยอง โดยมีมาตรการภาครัฐสนับสนุน อาทิ การกระตุ้นการลงทุนผ่านมาตรการภาษีและสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8
ภาคใต้ ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังขยายตัวได้ดีภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานจากภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า จำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนที่ลดลงที่ร้อยละ -39.8 และ -44.9 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงทั้งนักท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติและคนไทย สำหรับด้านอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัว จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี สอดคล้องกับรายได้เกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวโดดเด่นจาก เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจำนวน 889.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.8 ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตถุงมือและลูกโป่งจากยางพาราจำนวน 423.4 ล้านบาท ในจังหวัดพัทลุง เป็นสำคัญ รวมถึงจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ยังสามารถขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่ 0.3 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังขยายตัวได้จาก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัว
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเครื่องชี้ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง สะท้อนจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ลดลงร้อยละ -9.4 และ -9.8 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงทั้งนักท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติและคนไทย อย่างไรก็ดี ด้านอุปสงค์ภายในประเทศมีสัญญาณการขยายตัวจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าทั่วไป สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี ขณะที่ การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนชะลอตัว สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่ยังคงลดลงร้อยละ -10.8 และ -9.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ –17.6 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว จากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 5,032.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 710.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -21.7 ต่อปี จากการลงทุนในโรงสีข้าวในจังหวัดบุรีรัมย์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี จำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ยังคงลดลงที่ร้อยละ -15.9 และ -7.3 ต่อปี ตามลำดับ ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -17.2 และ -16.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9
กทม.และปริมณฑล ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยวแต่ยังสามารถขยายตัวได้จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ที่ขยายตัว
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือน โดยลดลงที่ร้อยละ -50.1 และ -51.3 ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -1.2 และ -3.2 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงทั้งจากชาวต่างชาติและคนไทย ในขณะที่ด้านอุปสงค์ภายในประเทศสามารถขยายตัวได้จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ที่ขยายตัว ร้อยละ 4.2 และ 14.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนลดลงจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ชะลอต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -10.0 และ -1.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินลงทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการและได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ลดลงร้อยละ -54.3 และ -24.0 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ลดลงร้อยละ -14.6 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9
ภาคตะวันตก ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน จากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มและได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ดี
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือน โดยลดลงร้อยละ -24.5 และ -29.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่สะท้อนการขยายตัวได้ดีจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการและเงินลงทุนได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซึ่งกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 643.4 และ 25.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง -5.2 ต่อปี -48.3 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนกลับมาขยายตัว จากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าของประชาชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ลดลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.8 ต่อปี ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7
ภาคกลาง ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากด้านอุปสงค์ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ รายได้เกษตรกร และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัว
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือน โดยลดลงที่ร้อยละ -33.4 และ -34.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยสนับสนุนจากด้านอุปสงค์ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ในขณะที่ การบริโภคในหมวดสินค้าคงทนลดลง สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงลงที่ร้อยละ -23.8 และ -11.0 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 24.3 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.5 ต่อปี สำหรับด้านเสถียรภาพภายใน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 2.0
ภาคเหนือ ได้รับผลกระทบในภาคการท่องเที่ยว แต่ยังสามารถขยายตัวได้จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนของผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ลดลงร้อยละ -18.3 และ -25.8 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -2.3 และ -4.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงที่ร้อยละ -10.6 และ -6.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ลดลงร้อยละ -10.2 ต่อปี ในด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและก่อสร้าง สะท้อนจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ และที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ -66.4 และ -71.1 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ จำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -17.1 และ -16.3 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับ ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราว่างงานในเดือนมกราคม 2563 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง