รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 7 - 10 เมษายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 14, 2020 14:49 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.54 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.54
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 63 คิดเป็น 1.75 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 52.5 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 41.6
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.54 หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของกลุ่มพลังงานที่ร้อยละ -11.14 ต่ำสุดในรอบ 48 เดือน ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลกระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ที่ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลง นอกจากนั้น กลุ่มอาหารสด แม้จะยังขยายตัวที่ร้อยละ 2.46 แต่เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบปี เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการอาหารสดลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.54 ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้นร้อยละ 0.41 และ 0.53 ตามลำดับ

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน มี.ค. 63 เท่ากับ 104.6 หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยมีสาเหตุสำคัญ มาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ร้อยละ -11.6 ต่อปี โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อยที่ใช้ในการก่อสร้างลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ และการดำเนินโครงการภาครัฐหลายโครงการถูกชะลอออกไปจากแผนเดิม อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสคลี่คลาย น่าจะส่งผลให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่กลับมาดำเนินการต่อได้ รวมถึงมาตรการภาครัฐอื่นๆ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การผ่อนปรนมาตรการผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan To Value : LTV) น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะถัดไป ซึ่งจะต้องติดตามและประเมิน

Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 63 คิดเป็น 1.75 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 52.5 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ ระดับ 41.6 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 41 เป็นต้นมา โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทำให้มีการสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่าง ๆ ส่งผลให้มีการปิดกิจการ ยกเลิกการจ้างงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend
          การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน มี.ค. 63 ลดลง 7.01 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี จากการจ้างงานในเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดที่อยู่อาศัย สินค้าจากไม้ คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิก ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ของกำลังแรงงาน            จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5  ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยภาคเอกชนปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 991.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์

China: improving economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.1 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 40.3 จุดดัชนีฯ(PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 43.0 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26 จุด

Eurozone: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และยานยนต์เป็นสำคัญ

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 63 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 30.9 จากระดับ 38.4 เป็นการปรับลดลง 3 เดือนติดต่อกัน และเป็นค่าที่ต่ำสุดในรอบ 11 ปี ตั้งแต่เดือน มี.ค. 52

South Korea: mixed signal

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ธนาคารแห่งประเทศเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์

Taiwan: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 ส่งผลให้เกินดุลการค้าที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -0.2

UK: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 มูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -6.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.5 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -2.8 พันล้านปอนด์ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 หดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.7 จากหมวดสินค้าคงทนเป็นสำคัญ

India: worsening economic trend

ดัชนีฯ(PMI) ภาคบริการ เดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 49.3 ลดลงจากระดับ 57.5 ในเดือนก่อนหน้า ลดลงต่ำสุดตั้งแต่เดือนต.ค. ปีก่อน ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน หน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Austraria: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เมื่อขจัดผลทางฤดูกาลปรับตัวลดลงร้อยละ -5.0 จากเดือนก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 37.8 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย นำเข้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ -4.0 จากเดือนก่อนหน้าส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 4.36 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปีเพื่อพยุงเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID-19

Malaysia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายเชื้อเพลิงยานพาหนะที่ลดลงเป็นสำคัญ

Philippines: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคา ค่าขนส่งที่ลดลงเป็นสำคัญ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -5.2 ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.4 ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.8 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 1.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 63 หดตัวที่ร้อยละ - 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ ยอดค้าปลีกโดยเฉพาะเสื้อผ้าลดลงเป็นสำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 113.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 117.7 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,210.48 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 9 เม.ย. 63 ที่ 91,811.10 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 9 เม.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -10,465.54 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุ ปรับตัวลดลง 2-16 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 9 เม.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -7,602 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 9 เม.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 32.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.85 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ หยวน ริงกิต และเงินวอน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวเพิ่มร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ