ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแถลงข่าวเรื่องการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบ และแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายของรัฐบาลซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย และเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 เวลา 8.30 น. วงเงินไม่เกิน50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 2.40 และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ยร้อยละ 3.00 ต่อปี
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้รายละเอียดการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” เพิ่มเติมว่าการจำหน่ายแบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยสัปดาห์ที่ 1 จำหน่ายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป สัปดาห์ที่ 2 จำหน่ายให้ประชาชนรายย่อยซื้อได้ก่อน แบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาท/คน/ธนาคาร และสัปดาห์ที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป เปิดให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าซื้อได้แบบไม่จำกัดวงเงิน โดยซื้อผ่าน BOND DIRECT Application และช่องทางของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สรุปเงื่อนไขการจำหน่ายได้
ทั้งนี้ สบน. ได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร รวมถึงการใช้งาน BOND DIRECT Application จาก สบน. ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์ได้อย่างสะดวกสบายผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเลือกไปชำระเงินที่สาขาธนาคารหรือผ่าน Krungthai NEXT ได้
สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 0 2271 7999 ต่อ 5809/ 0 2265 8050 ต่อ 5307
ที่มา: กระทรวงการคลัง