Executive Summary
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 63 ลดลงร้อยละ -2.99 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.41
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -33.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. 63 เกินดุล 696.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 63 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน เม.ย. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 39.2
- GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 1 ปี 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP สหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 63 ลดลงร้อยละ -2.99 หดตัวแรงที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมาตรการของรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานหดตัวถึงร้อยละ -29.31 ในขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการ เช่น ราคาข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 7.36 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้นร้อยละ 1.37 ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้นร้อยละ 5.52 เป็นต้น โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.31 ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.41
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 63 เท่ากับ 103.6 หดตัวร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ที่ร้อยละ -15.4 ต่อปี โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ลดลงตามความต้องการใช้งานในภาคก่อสร้างและราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลง รวมทั้งในหมวดก่อสร้างอื่น ๆ เช่น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ -2.5 และ -0.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังคงส่งผลต่อภาคการลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะคลี่คลายอาจจะเห็นการฟื้นตัวของความต้องการใช้งานวัสดุก่อสร้างอีกครั้ง
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนเม.ย. 63 หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -33.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -25.6 โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่ ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ในช่วงดังกล่าวลดลงอย่างมาก
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน มี.ค. 63 เกินดุล 696.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 5,381.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลที่ -1,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 2,272.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกปี 63 เกินดุลรวม 9,522.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 63 มียอดคงค้าง 18.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สินเชื่อในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.7 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 63 มียอดคงค้าง 21.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.6 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 63 คิดเป็น 1.86 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน เม.ย. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 39.2 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่จัดเก็บข้อมูลมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 41 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลยังมีการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน (1-31 พ.ค.) นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งยังเป็นตัวบั่นทอนรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
Global Economic Indicators: This Week
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งหดตัวลงอย่างมาก
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.3 โดยราคาสินค้าหมวดอาหาร และเครื่องนุ่งห่มปรับตัวลดลง
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 โดยภาคการผลิตเริ่มขยายตัวเร่งขึ้นจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า
ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.8 ถือว่าหดตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะจากสินค้าหมวดเสื้อผ้าและจิวเวลลี่ อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.2 โดยมีสาเหตุจากการหดตัวของสินค้าทุนและสินค้าคงทนเป็นสำคัญ
อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดที่ร้อยละ 6.2 ต่อกำลังแรงงานรวม เพิ่มมากขึ้นจากเดือนก่อน นับเป็นอัตราที่สูงสุดนับตั้งแต่ เดือน ส.ค. 58 ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้มาตรการปิดประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 52 และหดตัวร้อยละ -2.0 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลฤดูกาลแล้ว) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าในหมวดแร่อโลหะ โลหะพื้นฐาน และโลหะประดิษฐ์ที่ลดลงเป็นสำคัญ
ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 54 จากสินค้าหมวดเสื้อผ้าเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อนในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -18.6 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 หดตัวลดลงถึงร้อยละ -16.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 26 ปี เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อกำลังแรงงานรวม แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะกระตุ้นการลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์หรือร้อยละ 10 ของ GDP เพื่อสนับสนุนธุรกิจและทำให้อัตราการว่างงานลดลง
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2553 โดยมีสาเหตุจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และส่งผลต่อภาคการผลิต โดยดัชนีฯ PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 ร่วงลงมาที่ร้อยละ -9.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ค่าดัชนีจะลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แต่ครั้งนี้เป็นการปรับลดครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม เป็นผลจากการใช้มาตรการปิดประเทศและยังส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 63 ขาดดุลที่ 6.7 พันล้านปอนด์ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขาดดุลเพียง 1.5 พันล้านปอนด์ โดยตัวเลขการส่งออกในเดือน มี.ค. 63 ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ เดือน ก.ย. 59 ที่ร้อยละ 12.9 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.8 ด้วยมูลค่าการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากประเทศนอกสหภาพยุโรป
ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,280.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 11 - 14 พ.ค. 63 ที่ 56,272 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11 - 14 พ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 2,635.66 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0-5 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 30 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 3.29 และ 2.60 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 11 - 14 พ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,582.24 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 พ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 32.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.05 จากสัปดาห์ก่อนหน้าสวนทางกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ สกุลเงินเยน ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง