Executive Summary
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 63 กลับมาขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -17.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน เม.ย. 63 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -74.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.63 หดตัวที่ ร้อยละ -58.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- GDP ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2563 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2562 ร้อยละ -2.2 โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคขั้นสุดท้ายของภาคเอกชนชะลอตัวลง ในส่วนของด้านการผลิต ภาคการเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ -5.7 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เช่นเดียวกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงต่อเนื่องร้อยละ -2.7 ในขณะที่ภาคบริการลดลงร้อยละ -1.1 ตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศใน เดือน เม.ย. 63 กลับมาขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากปรับผลทางฤดูกาล พบว่าขยายตัวร้อยละ 23.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 15 เดือน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงโครงการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่เร่งเดินหน้าเบิกจ่ายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 63 อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระยะถัดไปที่จะส่งผลต่อการผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาเป็นปกติได้เร็ว จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้
มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 63 มีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี อาทิ ทองคำ ยาพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ อากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร เป็นต้น ขณะที่ สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ยางพารา น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องดื่ม เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงมี สัญญาณหดตัว ขณะที่ การส่งออกไปยัง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) ขยายตัวในเดือนดังกล่าว ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 ขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 63 มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -17.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป อาวุธยุทธปัจจัย สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน เม.ย. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนเม.ย. 63 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75.9 ต่ำสุดในรอบ 11 ปี เนื่องจากปัจจัยความกังวลของผู้ประกอบการต่อสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการ ล็อกดาวน์ของภาครัฐ ส่งผลให้การใช้จ่ายและการบริโภคลดลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน นอกจากนี้ ปัญหา ภัยแล้งที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อในภาคเกษตรกรรม สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 88.8 ต่ำสุดในรอบเกือบ 11 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคตสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง และความไม่แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 63 มีจำนวน 8,830 คัน หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -74.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -49.1 เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่หยุดทำการผลิตลงชั่วคราว อีกทั้งสถานการณ์การขายทั้งตลาดในประเทศและตลาดการส่งออก รวมถึงสถานการณ์การผลิตชิ้นส่วนจากทั่วโลกยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.63 มีจำนวน 22,878 คัน หดตัวที่ร้อยละ -58.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -32.5 เมื่อปรับผลทางฤดูกาล หดตัวตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -59.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการเลื่อนจัดงาน Motor Show ครั้งที่ 41 จากเดิมจัดในช่วง มี.ค.-เม.ย. เปลี่ยนเป็น ก.ค. ส่งผลต่อคำสั่งซื้อรถยนต์ลดลงกว่าปกติเมื่อเทียบกับการจัดงานในช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ หดตัวที่ร้อยละ -32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Global Economic Indicators: This Week
ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -30.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -18.6 จากยอดสร้างบ้านทั้งแบบทาวน์โฮมส์ คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว ที่ชะลอตัว ซึ่งถือเป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 63 ที่หดตัวร้อยละ -20.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 โดยที่บ้านแบบทาวน์โฮมส์หดตัวสูงสุดที่ร้อยละ -30.4 จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ 5.2 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากทั้งยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดฯ ที่หดตัวร้อยละ -7.1 และ -13.5 ตามลำดับ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 41.5 จุด ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี ผลจากดัชนีย่อยเกือบทุกหมวดปรับตัวต่ำลง ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 41.8 จุด ต่ำสุดในรอบ 11 ปีเช่นกัน
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2009 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.2 หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน การส่งออกเดือน เม.ย. 63 หดตัวถึงร้อยละ -21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมูลค่า 5.2 ล้านล้านเย็น ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก ขณะที่การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 6.1 ล้านล้านเยน ส่งผลให้ดุลการค้า ในเดือนเม.ย. ขาดดุลที่ 930 พันล้านเยน อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 อย่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7 จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่ลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 63 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -18.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -22.0
อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในหมวดค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี
มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -12.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หรือมูลค่า 3.85 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.3 หรือมูลค่า 3.59 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้เกินดุลอยู่ที่ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 5.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.2 อัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.3 โดยหมวดพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ
อัตราการว่างงาน ช่วงเดือน ม.ค. - มี.ค. 63 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.4 โดยเริ่มมีการใช้มาตรการปิดประเทศได้เพียง 1 สัปดาห์ ในปลายเดือน มี.ค. 63 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ ส.ค. 59 เป็นผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราค่าไฟลดลง โดยเฉพาะสินค้าหมวดที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคลงมากถึง -1.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงดัชนีราคาค้าปลีกเดือน เม.ย. 63 ลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.6 ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ส่วนดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 40.6 กลับมาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 32.6 และดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 27.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 13.4 ส่งผลให้ดัชนีฯ (PMI) รวม (เบื้องต้น) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 28.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.8 จากการที่สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าได้ผ่านจุดวิกฤติที่สุดมาแล้ว
ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,320.69 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 ที่ 68,163 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 8,965 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1เดือน - 1ปี) ปรับตัวลดลง -1 ถึง-4 bps ระยะกลาง (3ปี - 9 ปี) ปรับตัวลดลง -1 ถึง-7 bps ระยะยาว 10ปีขึ้นไปปรับเพิ่มขึ้น 1 ถึง 10 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุน ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 18 - 21 พ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,462 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 21 พ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.81 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่เงินสกุลหลักอื่น ๆ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ เยน ริงกิต วอน ขณะที่สกุลเงินหลักอื่น ๆ แข็งค่าขึ้น อาทิ ยูโร ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง