Executive Summary
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น อยู่ที่ร้อยละ 42.9 ของ GDP
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 63 ลดลงร้อยละ -3.44 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นที่ร้อยละ 0.01
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ค. 63 หดตัว ร้อยละ -37.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน พ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 40.2
- ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน เม.ย. 63 ขาดดุล -654.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงิน เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- เงินฝากในสถาบันการเงิน เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- GDP ออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,186,609 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.9 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 167,478 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 90.1 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.4 ของยอดหนี้สาธารณะ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค. 63 ลดลงร้อยละ -3.44 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และมาตรการของรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา เป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานหดตัวถึงร้อยละ -27.38 นอกจากนี้ ราคาในหมวดอาหารสดลดลงร้อยละ -1.24 โดยเป็นผลจากราคาผักและผลไม้ที่ลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาในหมวดอื่น ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับผลผลิตและความต้องการ ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ค. 63 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ร้อยละ -14.9 ต่อปี รวมทั้งในหมวดก่อสร้างอื่น ๆ เช่น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดซีเมนต์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ปรับลดลงร้อยละ -2.7 -1.2 และ -0.4 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์ จากการชะลอตัวของภาคการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการลงทุนในประเทศ ตามภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ปัจจัยด้านอุปทานมาจากผลของต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเศษเหล็ก รวมทั้งการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากจำนวนผู้ค้าและการนำเข้าจากต่างประเทศ
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ค. 63 หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -37.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -9.4 โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ใหม่ ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ในช่วงดังกล่าวลดลงอย่างมาก
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมของ ม.หอการค้าไทย ในเดือน พ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.2 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ระดับ 40.2 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ (reopen) ในระยะที่ 1 และ 2 ประกอบกับการที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์COVID-19 ทั้งมาตรการด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลสูงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบ เชิงลบจาก COVID-19
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน เม.ย. 63 ขาดดุล -654.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 696.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -3,184.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,530.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงมากกว่ามูลค่าการส่งออกจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 9,522.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 63 มียอดคงค้าง 18.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้น เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน เม.ย. 63 มียอดคงค้าง 21.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.0 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
Global Economic Indicators: This Week
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 43.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.5 จุด ซึ่งเป็นผลจากดัชนีย่อยทุกหมวดปรับตัวสูงขึ้น ยกเว้นดัชนีการส่งมอบของผู้ผลิต ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.4 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.8 จุด โดยเฉพาะดัชนีฯกิจกรรมทางธุรกิจ กับดัชนียอดคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่สุดเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -29.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการหดตัวที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 27 ปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ -21.1 หดตัวต่ำลงกว่าเดือนก่อนหน้า และถือเป็นการหดตัวที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 70.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม(Caixin) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 50.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4 จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ(Caixin) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.4 จากปัจจัยคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 39.4 . เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 33.4 ด้านดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 30.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 12.0 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.1 ด้านยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -19.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.0 จากทุกหมวดสินค้า ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนที่ให้สถาบันการเงินกู้ยืม และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใช้สำหรับการปล่อยสภาพคล่องให้ระบบธนาคาร ไว้ที่ร้อยละ -0.5 ร้อยละ 0.25 และร้อยละ 0.0 ตามลำดับ
ดัชนีฯ(PMI) เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 43.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 36.9 จากปัจจัยคำสั่งซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 41.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.2 จากปัจจัยคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตที่ลดลง
มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 63 หดตัวถึงร้อยละ -23.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าที่ 34.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2010 มูลค่าการนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -21.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรืออยู่ที่ระดับ 34.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า เดือน พ.ค. 0.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 41.3 จากระดับ 41.6 ในเดือนก่อน จากภาคการผลิตที่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาค่าขนส่งที่ลดลง เนื่องจากมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (final) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 62 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี สาเหตุหลักที่ส่งผลต่อ GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 ชะลอตัวมาจากภาคบริการ เป็นสำคัญ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงขยายตัว
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 30.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 27.4 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการล็อคดาวน์ที่ยังคงส่งผลให้ภาคการผลิตชะลอตัว ทั้งยอดสั่งซื้อและคำสั่งซื้อใหม่ที่ลดลง ขณะที่ ดัชนีฯ(PMI) ภาคบริการ เดือน พ.ค. 63 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 12.6 จากระดับ 5.4 ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
ดัชนีฯ(PMI)ภาคบริการ เดือน พ.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 29 เทียบกับปีก่อนหน้า แต่ก็ยังนับว่าต่ำกว่าค่าดัชนีในสถานการณ์ปกติ ขณะที่เดือน เม.ย. ดัชนีต่ำที่สุดที่ระดับ 13.4 เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการท่องเทียวยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโคโรน่า ธุรกิจเปิดใหม่ยังคงมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.25 คาดว่าออสเตรเลียได้ผ่านช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดมาแล้ว จากการที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดน้อยลง โดย GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ขณะที่ดุลการค้า เดือน เม.ย. 63 ยังคงเกินดุล แต่ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 8.8 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากมูลค่าการส่งออกที่ร่วงลงร้อยละ -11 และการนำเข้าลดลงร้อยละ -10 จากเดือน มี.ค. ส่วนยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 ดิ่งลงอยู่ที่ร้อยละ -17.7 เมื่อเทียบจากเดือน มี.ค. ที่เพิ่มสูงถึงร้อยละ 8.5 เป็นผลจากการที่หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงชั่วคราว
ดัชนีฯ(PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 42.7 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 32.7 จุด เนื่องจากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศได้
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 27.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 28.1 จุด เนื่องจากหลายธุรกิจยังคงปิดตัวเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 45.6 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 31.3 จุด เนื่องจากการปลดล็อกมาตรการ Lockdown บางส่วน สำหรับมูลค่าการส่งออก เดือน เม.ย. 63 หดตัวร้อยละ -23.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -8.0 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -3.5 พันล้านริงกิตมาเลเซีย
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 40.1 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 31.6 จุด ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -61.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าประเภทหนังสัตว์เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดเสื้อและรองเท้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 และการปิดประเทศ ส่งผลทำให้อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 63 อยู่ที่ร้อยละ 17.7 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
ดัชนีฯ(PMI)ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 28.6 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 27.5 จุด อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.19 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบเป็นสำคัญ
ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,411.01 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 1 - 4 มิ.ย. 63 ที่ 86,235 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 4 มิ.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 5,953 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับเพิ่มขึ้น 0 ถึง 15 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุน ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 - 4 มิ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ตลาดพันธบัตรสุทธิ 13,831 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 4 มิ.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 31.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.77 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ยูโร ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.17 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง