Executive Summary
- มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -23.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -18.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน มิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ในเดือน มิ.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ ร้อยละ -100 ต่อปี
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -41.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -26.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 63 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
มูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. 63 มีมูลค่า 16,444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -23.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่ สินค้าส่งออกที่หดตัว อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ(ไม่รวมทองคำ) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย เป็นต้น ด้านมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงมีสัญญาณหดตัว ขณะที่ การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกากลับมาขยายตัวในเดือนดังกล่าว และการส่งออกไปยังจีน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
มูลค่าการนำเข้าในเดือน มิ.ย. 63 มีมูลค่า 14,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -18.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป อาวุธยุทธปัจจัย และสินค้าทุน ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกMของปี 63 ยังคงหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 10.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนมิ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0 เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่ภาครัฐผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 การยกเลิกเคอร์ฟิว การเปิดด่านการค้าชายแดนที่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลง สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 90.1 เนื่องจากความกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับความเปราะบางของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความกังวลถึงด้านการกลับมาระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบสอง
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม หดตัวที่ร้อยละ -4.7 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 1.7 และ 6.2 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -6.9 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม
ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -1.4 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ -4.6 และ -5.3 ขณะที่ราคาในหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่
ในเดือน มิ.ย. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวที่ ร้อยละ -100 เช่นกัน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ปิดด่านตรวจคนเข้าทั่วประเทศ และประกาศของ สำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 3) ตั้งแต่ วันที่ 3 เม.ย. 63 ถึง 30 เม.ย. 63 และนอกจากนี้ยังมีประกาศฉบับที่ 4 และ 5 ที่ขยายระยะเวลาห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทย จนถึง 30 มิ.ย. 63 จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนเป็น 0 ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. 63
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย. 63 มีจำนวน 20,768 คัน หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -41.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 62.4 เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่เริ่มกลับมาทำการผลิตหลังจากรัฐบาลได้ทยอยประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีไม่มากนัก ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในเดือน มิ.ย. 63 ยังไม่ฟื้นตัว
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย. 63 มีจำนวน 37,245 คัน หดตัวร้อยละ -26.4 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 32.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล ตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -26.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 32.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ผลจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายการล็อกดาวน์และมีมาตการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบเป็นรายเดือน รวมถึงการจัดงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 ช่วงวันที่ 15-26 ก.ค.63 นี้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงถัดไปได้มากขึ้น
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายบ้านมือสอง เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 43.72 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากยอดขายคอนโดที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่ร้อยละ 29.4 จากเดือนก่อนหน้าในทุกพื้นที่ สอดคล้องกับราคากลางบ้านมือสอง เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ 295,300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.5 และ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออก เดือน มิ.ย. 63 ลดลงร้อยละ -26.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
. หรือมูลค่า 4.96 ล้านล้านเยน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมาจากการหดตัวของการส่งออกในหมวดยานยนต์ หมวดเครื่องจักรเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าลดลงที่ร้อยละ -14.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 5.13 ล้านล้านเยน มาจากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลที่ 268.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ -15 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -14.7 จุด
GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 63 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวที่ร้อยละ -3.3 อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยเป็นการหดตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 1998 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้จีดีพีหดตัวในไตรมาสนี้มาจากภาคการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -13.6 การนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -9.2 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวที่ร้อยละ -4.1 ต่อปี
อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าคงทนปรับตัวลดลง
อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยภาคการผลิตขยายตัวเร่งขึ้นมาก ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 จากราคาสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้า เป็นสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อ เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.8 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 จากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง