รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 14 - 18 กันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2020 13:57 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ ร้อยละ -35.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนส.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.5 ในเดือนก่อน
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำในเดือน ส.ค. 63 มีจำนวน 38.05 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำภาคเกษตรกรรม หดตัวที่ร้อยละ -1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากปรับผลทางฤดูกาล พบว่าหดตัวร้อยละ -3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามแนวโน้มการฟื้นตัวภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการเร่งดำเนินงาน เพื่อให้งานส่งมอบได้ตามสัญญา ส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จะเป็นส่วนเสริมสำหรับการฟื้นฟูผลกระทบและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ส.ค. 63 มีจำนวน 21,300 คัน หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -35.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล กลับมาขยายตัวที่ ร้อยละ 14.8 สะท้อนให้เห็นว่าตลาดรถยนต์นั่งเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นแต่ความต้องการรถยนต์ของตลาดยังคงมีอยู่น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี บริษัทรถยนต์ หลายแห่งเริ่มเร่งทำการตลาดอย่างเต็มที่ด้วยการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ยานยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ตลาดรถยนต์ในระยะต่อไปจะกลับฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนส.ค. 63 มีจำนวน 47,583 คัน หดตัวที่ร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล ตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่หดตัวร้อยละ -3.1 ต่อปี ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ดีขึ้น ส่งผลต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศฟื้นตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 หลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วงเดือน เม.ย. จากความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือนส.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 84.0 จากระดับ 82.5 ในเดือนก่อน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากการที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดี รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้ สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 94.5 จากระดับ 93.0 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าภาคการผลิตจะมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและเหมืองแร่เป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.4

China: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากหมวดอุปกรณ์อุตสาหกรรม ไฟฟ้า และเหมืองแร่เป็นสำคัญ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวที่ ร้อยละ -1.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากสินค้าหมวดโทรคมนาคมและอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่ปรับตัวขึ้น ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 5.6 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7

Japan: improving economic trend

ดุลการค้าเดือน ส.ค. 63 เกินดุลอยู่ที่ 248.3 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุลที่ 10.9 พันล้านเยน และเป็นการเกินดุลครั้งที่ 2 ในรอบ 5 เดือน (นับจาก เมย. 63 เป็นต้นมา) สาเหตุจากการนำเข้าอยู่ที่ 4.98 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ -20.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกอยู่ที่ 5.23 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ -14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน \ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ร้อยละ -0.1 โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติในการประชุมเดือน ก.ย.63 ด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ให้เคลื่อนไหวที่ระดับร้อยละ 0 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการบริโภค

EU: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -7.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากการปรับตัวลดลงของสินค้าหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

Hong Kong: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Taiwan: mixed signal

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 63 ธนาคารกลางไต้หวันประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.125 ต่อปี

UK: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือน ก.ค. 63 ที่ร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ เดือน ธ.ค. 58 อัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่ในระดับต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 0.1 และคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 7.45 แสนล้านปอนด์ ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.4

Australia: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.5 ของกำลังแรงงานรวม

India: worsening economic trend

ดุลการค้าเดือน ส.ค. 63 ขาดดุลอยู่ที่ -6.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขาดดุลที่ -4.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการที่รัฐมีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การส่งออกลดลลงร้อยละ -12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 22.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ขณะเดียวกัน การนำเข้าลดลงร้อยละ -26.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 20.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงของน้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องมือเครื่องจักร เป็นสำคัญ

Indonesia: improving economic trend

ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -10.1 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -32.6 ส่งผลให้ยังคงเกินดุลอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สรอ.

Singapore: improving economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาส 2 ปี 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.1 มูลค่าการนำเข้า เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -10.0 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ส.ค. 63 เกินดุลที่ 5.87 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยมีการปรับลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ และเพิ่มขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ที่ปรับตัวลดลง เช่น STI (สิงคโปร์) JCI (อินโดนีเซีย) และ S&P/ASX 200 (ออสเตรเลีย) เป็นต้นทั้งนี้ ดัชนี SET เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,284.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ย. 63 ที่ 45,762 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 ก.ย. - 17 ก.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -2,462.51 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ไม่มีการปรับตัว ระยะกลาง (1 ปี - 10 ปี) ปรับตัวในช่วง -7 ถึง 2 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง -10 ถึง -5 bps โดยในสัปดาห์นี้นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี และ 50 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 3.95 และ 2.72 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 14 - 17 ก.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ในตลาดพันธบัตรสุทธิ 5,398.65 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 17 ก.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.32 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุล เยน วอน ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.14 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ