รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 กันยายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2020 15:36 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการนำเข้าในเดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -19.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ในเดือน ส.ค. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัว ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 63 มีมูลค่า 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่มูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาอยู่ในระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี หากคิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงยังคงหดตัวที่ร้อยละ -7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดมิติกลุ่มสินค้า พบว่า สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวดี อาทิ ทองคำ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงมือยาง น้ำมันปาล์ม สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออกที่ยังคงหดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย และผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป เป็นต้น ในมิติตลาดคู่ค้า พบว่า ตลาดส่งออกส่วนใหญ่ยังคงมีทิศทางหดตัว ขณะที่ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ -7.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าในเดือน ส.ค. 63 มีมูลค่า 15,863 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ -19.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยกลุ่มสินค้านำเข้าที่ หดตัว ได้แก่ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินแร่ โลหะอื่น ๆ เครื่องเพชรพลอยอัญมณีเงินแท่งและทองคำ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 ยังคง หดตัวเฉลี่ยร้อยละ -15.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดุลการค้าในเดือน ส.ค. 63 ยังคงเกินดุลมูลค่า 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 ดุลการค้าของไทยเกินดุล 18.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในเดือน ส.ค. 63 ไม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศชาติ หดตัวที่ร้อยละ -100 ต่อปี เช่นกัน โดยเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื่อไวรัสโควิด-19 และการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยกำหนดให้ปิดด่านตรวจคนเข้าทั่วประเทศ และประกาศของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 2) กำหนดให้การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสามารถกระทำได้ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวและต้องเป็นไปตามเงื่อนไข จึงทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -32.4 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม หดตัวที่ร้อยละ -7.5 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวในหมวดหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 6.1 ขณะที่ผลผลิตในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -7.7 สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 63 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน ส.ค. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 9.0 และ 5.0 ขณะที่ราคาในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.8 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมันกลุ่มไม้ผล และสุกร ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 14.7 จากทุกภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง ยกเว้น ยอดขายบ้านใหม่ฝั่ง South ที่ปรับตัวสูงขึ้น

EU: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ระดับ -13.9 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -14.7 จุด ดัชนีฯ (pmi) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.7 จุด จากหมวดผลผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ดัชนีฯ (pmi) ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 47.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5 จุด จากหมวดผลผลิตที่ปรับตัวลดลง

Hong Kong: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -2.3 จากราคาสินค้าหมวด ที่อยู่อาศัย ขนส่ง และบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.0 ด้านมูลค่าการนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.4 ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ส.ค. 63 ขาดดุลที่ -14.6 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.9 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.7 จากหมวดอุตสาหกรรม เหมืองแร่และหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.5 จากยอดขายสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และโทรคมนาคมที่ปรับตัวสูงขึ้น

UK: mixed signal

ดัชนีฯ (pmi) ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 63 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 54.3 จุด ลดลงจากเดือน ส.ค. 63 ที่ปรับตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 55.2 จุด และดัชนีฯ (pmi) ภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน ก.ย. 63 ปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 55.1 จุด จากเดือน ส.ค. 63 ที่เป็นระดับสูงที่สุดนับในรอบ 5 ปี ที่อยู่ที่ 58.8 จุด ทั้งนี้ แม้ดัชนีฯ (pmi) จะปรับตัวลดลง แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการของสหราชอาณาจักรที่ยังคงมีการขยายตัวได้

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 79.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 88.2 จุด จากความเชื่อมั่นหมวดการใช้จ่ายครัวเรือนในอนาคตปรับตัวลดลง

Singapore: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -0.4จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -7.6 จากการปรับตัวขึ้นของหมวดไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ

Malaysia: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 63 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 จากราคาสินค้าในหมวดเสื้อผ้าเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยมีการทยอยปรับลดลงต่อเนื่องนับจากต้นสัปดาห์เป็นต้นมา ทั้งนี้ ดัชนี SET เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,247.46 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 21 - 24 ก.ย. 63 ที่ 47,415 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21 ก.ย. - 24 ก.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -5,492.24 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ไม่มีการปรับตัว ระยะกลาง (1 ปี - 10 ปี) ปรับตัวในช่วง -1 ถึง 3 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง -3 ถึง -1 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการเข้าประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 21 - 24 ก.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ในตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,694.86 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 24 ก.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 31.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุล เยน ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ค่าเงินวอน แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากว่าว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.74 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ