รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 ตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 19, 2020 14:12 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 63 คิดเป็น 1.95 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาสที่ 3 ปี 63 (เบื้องต้น) หดตัวที่ ร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. 63 คิดเป็น 1.95 เท่าของสินทรัพย์ สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ตามการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการเร่งดำเนินงาน เพื่อให้งานส่งมอบได้ตามสัญญา ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งจากปัยจัยด้านมาตรการของสถาบันการเงินที่เข้มงวด และความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ อย่างการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เสริมความต้องการในภาคการก่อสร้างให้ขยายตัว รวมถึงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหมวดยานพาหนะและสินค้าเวชภัณฑ์ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งสูงถึงร้อยละ 2.5 ในเดือน ม.ค. 63

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.1 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 เกินดุลที่ 37.0 พันล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.4

Japan: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -13.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 11 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) เพิ่มขึ้นร้อยะ 1.0 นับเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ที่ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมของประเทศ ปรับตัวในทิศทางบวก

EU: worsening economic trend

ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -7.2 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ซึ่งตรงกับที่ ตลาดคาดการณ์ โดยหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 63 เล็กน้อย แสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้า

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 6.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ที่ร้อยละ 7.1 โดยจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 937,400 คน เพิ่มขึ้น 11,300 คน สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่ต้องการหางานประเภท full-time และ part-time ซึ่งเพิ่มขึ้น 8,900 คน และ 2,300 คน ตามลำดับ

UK: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีต่อตลาดแรงงาน โดยระหว่างเดือน มิ.ย. ถึง ส.ค. 63 มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 1.52 ล้านคน ในขณะที่ผู้ว่างงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นประมาณ 7.3 ล้านคน ระหว่างเดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. 63

South Korea: worsening economic trend

ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ (BOK) มีมติณ 14 ต.ค.63 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมรัพย์ แม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 26.79 ล้านคน

Singapore: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -7.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 7.9 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

India: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -8.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงในหมวดอุตสาหกรรมการผลิต เหมืองแร่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.ย. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.34 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับจาก ม.ค.63 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารประเภทผัก เนื้อสัตว์ ปลา ตลอดจนเสื้อผ้า รองเท้า ค่าโดยสาร และค่าการศึกษา เป็นสำคัญ ดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 ขาดดุลอยู่ที่ -2.72 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่ขาดดุลที่ -6.77 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 27.58 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -19.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 30.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: worsening economic trend

ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 63 หดตัวร้อยละ-0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -8.4 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -18.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สรอ. หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -24.2 ส่งผลให้ยังคงเกินดุลอยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สรอ.

Malaysia: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ และปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) STI (สิงคโปร์) PSEi (ฟิลิปินส์) DAX (เยอรมนี) และ STOXX50E (สหภาพยุโรป) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,242.96 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 12 - 15 ต.ค. 63 ที่ 50,861 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 15 ต.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -1,215.54 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0 ถึง 1 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 และ 51 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 4.17 และ 2.41 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 12 - 15 ต.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ตลาดพันธบัตรสุทธิ 1,788.24 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 15 ต.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.11 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุล เยน ริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ค่าเงินยูโร อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.22 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ