รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 ตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 3, 2020 14:06 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัว ร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี
  • การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ก.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 ขาดดุลจำนวน 54,819 ล้านบาท
  • GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวลงร้อยละ - 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวของดัชนีฯ ในเดือนดังกล่าว มาจากดัชนีฯ ย่อยในหลายหมวดที่ยังคงหดตัว อาทิ หมวดเครื่องหนัง ยานยนต์ และเครื่องแต่งกาย ที่หดตัวร้อยละ -24.5 -12.7 และ -18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 20.2 13.1 และ 2.2 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน ตามลำดับ

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม หดตัวที่ร้อยละ -7.5 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวในหมวดหมวดปศุสัตว์ที่ร้อยละ 2.7 ขณะที่ผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.3 และ -6.3 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลุ่มไม้ผล และไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไข่ไก่ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมงขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 7.0 และ 11.4 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ไก่ และไข่ไก่

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 7.0 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยมีปัจจัยมาจากการขยายตัวของเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กเส้นกลม ที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และ 62.4 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ตามการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากผลของการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น และภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญ

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในเดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -10.7 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.2 ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.0 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จากการหดตัวในทุกหมวดการจัดเก็บภาษี ตามสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากผลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัย หดตัวและถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะถัดไป

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 322,385 ล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 11.7 ต่อปี ทำให้ทั้งปีงบประมาณ 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 3,168,731 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 91.9 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 292,411 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 92.0 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 211,823 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม ที่ร้อยละ 97.4 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 80,588 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 43.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสม ที่ร้อยละ 66.3 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 29,974 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ร้อยละ 91.2 ต่อปี

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 ได้ 227,290 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี ทำให้ทั้งปีงบประมาณ 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ทั้งสิ้น 2,394,075 ล้านบาท หดตัว -6.7 ต่อปี โดยมาจาก (1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี จากภาวะเศรษฐกิจและมีการลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1.5 และ (2) ภาษีสรรพสามิต หดตัว ร้อยละ -4.0 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่หดตัวลง จากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีน้อยลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. ปีงบประมาณ 63 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -54,819 ล้านบาททั้งนี้ เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลแล้วพบว่าเงินสดก่อนกู้เกินดุล 25,280 ล้านบาท โดยในเดือนนี้ รัฐบาลมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้เกินดุลอยู่ที่ 216,253 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 63 อยู่ที่ 572.1 พันล้านบาท

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 63 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -3.5 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) โดยยอดขายบ้านใหม่ลดลงในทุกภูมิภาค ยกเว้นเขตตะวันตก ดัชนีราคาที่อยู่อาศัย เดือน ส.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 8 จากเดือนก่อนหน้าGDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวสูงที่สุดที่ร้อยละ -9.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล)

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 หดตัวลงร้อยละ -8.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ยังมีอยู่ต่อเนื่องส่งผลให้อุปสงค์ลดลง ทั้งในหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องจักร และเชื้อเพลิง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติในที่ประชุมเดือน ต.ค. 63 คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับร้อยละ -0.1 ต่อปี และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ไว้ที่ระดับร้อยละ 0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 33.6 จุด ซึ่งเป็นระดับ สูงที่สุดนับจาก ก.พ. 63 เป็นต้นมา อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 ยังคงอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 ของกำลังแรงงานรวม เช่นเดียวกับเดือน ส.ค. และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 60 เป็นต้นมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวตอเนื่องกันเป็นเดือนที่ 12

EU: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 63 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ -15.5 จุด โดยเป็นระดับที่น้อยที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาอีกครั้งทำให้หน่วยครัวเรือนแสดงความกังวลต่อเศรษฐกิจและมีความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้น ในการตัดสินใจบริโภค ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 0 ต่อปี อย่างไรก็ตามทางธนาคารกลางยุโรปยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และส่งสัญญาณในการผ่อนคลายนโยบายในการประชุมเดือน ธ.ค. 63

Vietnam: improving economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ9.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.6 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 ส่งผลให้ดุลการค้ายังคงเกินดุลอยู่ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวลงร้อยละ - 1.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ -2.7 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้ว GDP ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 53 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากยอดส่งออกรถยนต์และชิปความจำ หลังเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยก่อนหน้านี้อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 63 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 91.6 จุด (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ที่ระดับ 79.4 จุด และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับจาก ก.พ. 63 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID -19 เริ่มลดลงในเดือน ต.ค. 63 รัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้ผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวได้จากผลการสำรวจภาคครัวเรือน 2,347 ครัวเรือนทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 12-19 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาขยายคัวครั้งแรกนับจาก เม.ย. 63 เป็นต้นมา หลังจากผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องนับเป็นเดือนที่ 5

Hongkong: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ระดับ 12.7 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ13 .6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.9 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -3 .6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.5 ทำให้เกินดุลการค้าอยู่ที่ 22พันล้านริงกิตมาเลเซีย

Australia: worsening economic trend

ราคาผู้ผลิต เดือน ก.ย. 63 ลดลงร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราเดียวกับเดือนก่อนหน้า

Singapore: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 24.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยมีการทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ บางประเทศ ที่ปรับตัวลดลง เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) TWSE (ไต้หวัน) STI (สิงคโปร์) KLCI (มาเลเซีย) S&P (สหรัฐอเมริกา) และ STOXX50E (สหภาพยุโรป) เป็นต้น ดัชนี SET เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,201.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค. 63 ที่ 48,310.65 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ -4,259.121 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในในช่วง 0 ถึง 1 bps ระยะกลาง (1ปี - 10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 0 ถึง 2 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง 0 ถึง -4 bps โดยในสัปดาห์นี้ ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 26 - 29 ต.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก ตลาดพันธบัตรสุทธิ -3,492.19 ล้านบาท และหากนับจาก ต้นปีจนถึงวันที่ 29 ต.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -83,219.95 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 29 ต.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.10 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่เงินสกุล ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.43 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ