Executive Summary
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.50 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.19 ต่อปี
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,848,156 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.4 ของ GDP
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวครั้งแรกรอบ 17 เดือน
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 63 เกินดุล 1,341.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 63 มียอดคงค้าง 18.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 63 ลดลงร้อยละ -0.50 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -0.70 ต่อปี สาเหตุหลักจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดเนื่องจากความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย และเมื่อหักราคาอาหารสด และพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.19 ต่อปี ทั้งนี้ โดยเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค. - ต.ค. 63) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.94 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.31
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,848,156 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.4 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 180,395 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะ หนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 86.3 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 98.2 ของยอดหนี้สาธารณะ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 63 ขยายตัว ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน ตามการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 สูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดซีเมนต์ ยังคงหดตัวร้อยละ -2.5 และ -0.3 ตามลำดับ จากปริมาณผลผลิตที่มากกว่าความต้องการ ใช้งาน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการทั้งนี้ราคาวัสดุก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างของโครงการภาครัฐเป็นสำคัญ รวมถึงราคาเหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามสภาพเศรษฐกิจไทย และต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควัด-19 รอบ และการเพิ่มความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ส่งผลให้ธุรกิจ การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังมีโอกาสฟื้นตัวจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคตลาดบนที่ยังมีกำลังซื้อและกลุ่มนักลงทุนจีนที่ต้องการเข้ามาซื้อจากปัจจัยด้านราคาที่ดึงดูด โดยเฉพาะทำเลในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ นานา-สุขุมวิท-เอกมัย รวมถึงแผนฟื้นฟูและมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐ จะช่วยสนับสนุนการเติบโต ของความต้องการก่อสร้างในประเทศในระยะต่อไป
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า หดตัวที่ร้อยละ -3.5 โดยเป็นผลมาจาก (1) สถาบันการเงินหลายแห่งมีความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์มากขึ้น (2) ยอดการผลิตที่ลดลงทำให้ไม่มีรถรุ่นใหม่ออกสู่ตลาด และ (3) แนวโน้มของการปรับเปลี่ยนไปบริโภครถจักรยานยนต์มือสอง ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.ย. 63 เกินดุล 1,341.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,122.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -1,890.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3,204.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 16,652.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 63 มียอดคงค้าง 18.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อพบว่า สินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 2.7 ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 63 มียอดคงค้าง 22.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 9.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.0 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 9.4 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
Global Economic Indicators: This Week
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 59.3 จุด เพิ่มขึ้นจาก เดือน ก.ย. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 56.4 จุด และเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ เดือน ก.ย. 61 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในทุกประเภท ได้แก่ คำสั่งซื้อใหม่ การผลิต การจ้างงาน การจัดส่งสินค้าของผู้จัดหา และสินค้าคงคลัง ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 56.6 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก เดือน ก.ย. 63 โดยถูกกดดันจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ การผลิต และการจ้างงาน อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่เหนือระดับ 50 จุด บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ การส่งออกและการนำเข้า เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 2.6 และ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนตามลำดับ เป็นผลจากความต้องการซื้อในตลาดโลกที่กำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 ขาดดุลอยู่ที่ 63.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือน ส.ค. 63 ที่อยู่ที่ 67.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ร้อยละ 0.00-0.25 จนกว่าจะมีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเหนือระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 และจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน รวมทั้งใช้เครื่องมืออื่นตามที่จำเป็น ขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด .ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.0 จุด เนื่องมาจากอุปสงค์ภายในและภายนอกภูมิภาคที่ลดลง ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ก.ย. 63 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.6 ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 56.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. 63 ที่ระดับ 54.8 จุด และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากการจ้างงานในภาคบริการที่ฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19
ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -13.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าและเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อภาคการบริโภคและการท่องเที่ยว
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.8 จุดในเดือนก่อนหน้า และเป็นระดับที่สะท้อน การขยายตัว (เกิน 50 จุด) ของภาคการผลิต เป็นเดือนแรกนับตั้งแต่ ธ.ค. 62 เป็นต้นมา เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ม.ค. 63 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค.63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือน ก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากการลดลงของค่าธรรมเนียมการใช้โทรศัพท์เป็นสำคัญ เนื่องจากรัฐบาลอุดหนุนเงินบางส่วนในช่วงการระบาดของ COVID-19 ดุลบัญชีเดินสะพัด เดือน ก.ย. 63 เกินดุลอยู่ที่ 10.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าเกินดุลที่ 12.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบริการขาดดุลอยู่ที่ -0.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณานับจากต้นปี 63 เป็นต้นมา (YTD) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลรวม 43.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 58.9 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.8 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นการเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนภาคการผลิตมีทิศทางฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากความต้องการซื้อทั้งในอินเดียและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ดุลการค้าเดือน ต.ค. 63 ขาดดุลอยู่ที่ -8.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากการส่งออก เดือน ต.ค. 63 หดตัว ร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 24.82 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ การนำเข้า เดือน ต.ค. 63 หดตัวร้อยละ -11.56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 54.1 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.8 ในเดือนก่อนหน้า นับเป็นเดือนแรก (นับตั้งแต่ ก.พง. 63 เป็นต้นมา) ที่มีการขยายตัวของภาคบริการ เนื่องจากมียอดออเดอร์เพิ่มขึ้น
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 52.2 จุด
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.0 จุด
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 45.1 จุด ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -10.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะสินค้าในหมวดนาฬิกาและเครื่องประดับเป็นสำคัญ
GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 5.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบเป็นสำคัญ ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 จุด
อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัว ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -12.8 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -16.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.3 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ระดับ 1.7 พันล้านดอลาร์สหรัฐ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ย. 63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.8 จุด สอดคล้องกับความเชื่อมั่นธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ด้านดัชนีฯ (PMI) ภาคการผลิต เดือน ต.ค. 63 ลดลงสู่ระดับ 54.2 จุด จากการส่งออกสินค้าและ การจ้างงานที่ลดลงในขณะที่ดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 เกินดุลอยู่ที่ 5,630 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 51.4 จุด ลดลงจากเดือน ก.ย. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด สะท้อนถึงการฟื้นตัวของ ภาคบริการอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ด้านดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 53.7 จุด จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่นอกจากนี้ ในวันที่ 5 พ.ย. 63 ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาด COVID-19 ครั้งใหม่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น
ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมีการทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ (โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 63 ตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่นักลงทุนฯ ทราบ ผลการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ที่ Joe Biden มีคะแนนนำ) สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ บางประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) HSI (ฮ่องกง) STI (สิงคโปร์) JCI (อินโดนีเซีย) PSEi (ฟิลิปินส์) STOXX50E (สหภาพยุโรป) FTSE100 (สหราชอาณาจักร) และ S&P (สหรัฐอเมริกา) เป็นต้น ดัชนี SET เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,264.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 2 - 5 พ.ย. 63 ที่ 55,407.83 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 2 - 5 พ.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -4,996.56 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) และระยะกลาง (ที่น้อยกว่า 7 ปี) ไม่มีการปรับตัว ระยะกลาง (8 ปี - 10 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง -1 ถึง -3 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวลดลงในช่วง -1 ถึง -5 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 2 - 5 พ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 10,950.19 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 5 พ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -71,886.66 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 5 พ.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 31.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.68 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินสกุล ยูโร ริงกิต ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินเยนและวอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.26 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง