รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 16 - 18 พฤศจิกายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 23, 2020 14:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี
  • อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของ กำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ต.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.0 จากระดับ 85.2 ในเดือนก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 63 ขยายตัว ที่ร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว ร้อยละ -12.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออก เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2563 ขยายตัวร้อยละ 6.5 (QoQ_SA) ปัจจัยสำคัญมาจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนของภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.4 และ 18.5 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายเอกชนหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -23.5 -10.7 และ -0.6 ตามลำดับ ในส่วนของด้านการผลิต สาขาบริการหดตัวร้อยละ -7.3 โดยสาขาบริการที่ลดลง เช่น สาขาขนส่ง สาขาที่พักแรม และสาขาการขายส่งและ การขายปลีก ส่วนสาขาบริการที่ขยายตัว เช่น สาขาก่อสร้าง สาขาข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมทางการเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การผลิตสาขาเกษตรกรรมหดตัว ร้อยละ -0.9 ตามการลดลงของพืชหลัก ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในส่วนของการผลิตสาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -5.3 ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ -6.7

ผู้มีงานทำในเดือน ต.ค. 63 มีจำนวน 37.90 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ที่ร้อยละ 4.1 และร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำภาคบริการหดตัวที่ร้อยละ -3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ของกำลังแรงงานรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน ต.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.0 จากระดับ 85.2 ในเดือนก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากปัจจัยบวกด้านอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการผลิตฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐด้วย สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 91.9 จากระดับ 93.3 ในเดือนก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 การแข็งค่าของเงินบาท และภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่อาจเพิ่มขึ้นหลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 63 มีจำนวน 22,461 คัน หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -18.6 เนื่องจากกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ประกอบกับในช่วงปลายปี 63 จะมีการจัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 (Motor Expo 2020) ซึ่งบริษัทรถยนต์หลายแห่งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคทำให้ประชาชนชะลอการสั่งซื้อ นอกจากนี้ สถาบันทางการเงินหลายแห่งยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ยังคงฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 63 มีจำนวน 51,654 คัน ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล ตามปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.3 ต่อปี โดยมีปัจจัยจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้เกือบทั้งหมด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการประกันราคาพืชผลเกษตรของรัฐบาล รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรโดยรวมก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเติบโตในภาคโลจิสติกส์ ตามการขยายตัวของตลาด E-commerce ส่งผลให้เกิดการลงทุนในรถกระบะเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่รวมทั้งการส่งเสริมการขายของผู้จำหน่ายรถยนต์ในงาน Fast Auto Show Thailand 2020 ในช่วงเดือนต.ค. 63 ไปจนถึงงาน Motor Expo เดือน ธ.ค. 63 จะช่วยผลักดันยอดรถในช่วงที่เหลือของปีให้ดีมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ