Executive Summary
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 63 ลดลงร้อยละ -0.41 ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.18 ต่อปี
- หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 49.5 ของ GDP
- ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. 63 เกินดุล 984.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
- ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.หอการค้าไทย ในเดือน พ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 52.4
- GDP ออสเตรเลีย ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 63 ลดลงร้อยละ -0.41 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ -0.50 ต่อปี สาเหตุหลักจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะ เนื้อสุกร และผักและผลไม้ เนื่องจากความต้องการของตลาด ทั้งภายในและต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปริมาณสินค้า ความต้องการ และการส่งเสริมการขาย และเมื่อหักราคาอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.18 ต่อปี โดยเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 63 (ม.ค. - พ.ย. 63) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ -0.90 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.29
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,829,158 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 49.5 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 18,998 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะ หนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 86.7 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 98.2 ของยอดหนี้สาธารณะ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน พ.ย. 63 ขยายตัว ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ตามราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลก รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบและความต้องการที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตยังคงลดลง เนื่องจากยังมีภาวะสินค้าล้นตลาดจากการที่ภาคการก่อสร้างยังคงซบเซา ทั้งนี้ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งทางการเมือง ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคการก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัวได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างภาครัฐที่เร่งดำเนินการ รวมไปถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรพย์เร่งส่งเสริมการขายในช่วงปลายปีจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้จะสิ้นสุดลง จะเป็นปัจจัยที่สามารถส่งเสริมให้ภาคการก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลพบว่า หดตัวที่ร้อยละ -5.1 โดยเป็นผลมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่มีมากขึ้น และแนวโน้มของการปรับเปลี่ยนไปบริโภครถจักรยานยนต์มือสองมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่จะฟื้นตัวดีขึ้นในเดือนถัดไป หากงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 37 ได้รับผลตอบรับที่ดีจากประชาชน
ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. 63 เกินดุล 984.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 1,314.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุลที่ -2,185.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดุลการค้า (ตามระบบ BOP) เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3,170.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 10 เดือนแรกของปี 63 เกินดุลรวม 17,636.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 63 มียอดคงค้าง 18.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง เมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อพบว่า สินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 3.1 ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 63 มียอดคงค้าง 22.0 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 8.5 และเงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.หอการค้าไทยในเดือน พ.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 52.4 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 เป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง และราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อหลายจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และการว่างงานในอนาคตที่เกิดจากผลกระทบเชิงลบจากโควิด-19
Global Economic Indicators: This Week
ยอดขายบ้านที่รอปิดการขาย เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก เดือน ก.ย. 63 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลกระทบจากราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 57.5 จุด ขยายตัวชะลอลงจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 59.3 จุด ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (ISM) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 56.6 จุด ขยายตัวชะลอลงจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 57.8 จุด ทั้งนี้การชะลอตัวลงของดัชนีฯ (PMI) ทั้งสองภาคเป็นผลจากการชะลอตัวลงของการผลิต ยอดสั่งซื้อใหม่ การจ้างงาน และการส่งสินค้าซัพพลาย
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 52.1 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่ระดับ 51.4 จุด เป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 60 ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (NBS) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 56.4 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ต.ค. 63 ที่ระดับ 56.2 จุด เป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 55 สอดคล้องกับ ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (Caixin) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่ระดับ 53.6 จุด นับเป็นการขยายตัวที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการ (Caixin) เดือน พ.ย. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 57.8 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่ระดับ 56.8 จุด และเป็นการขยายตัวที่มากที่สุดเป็นอันดับสองในรอบกว่า 10 ปี
อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน พ.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -0.2 และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 8.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือน ก.ย. 63 เล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 8.5 ยอดค้าปลีกเดือน เดือน ต.ค. 63 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวจากเดือน ก.ย. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 และขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.7
ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรก นับจากเดือน มี.ค. 63 เป็นต้นมา โดยมาจากยอดขายยานพาหนะ เครื่องมือเครื่องจักร และเวชภัณฑ์ ทีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 13 อัตราว่างงาน เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากกำลังแรงงานรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยะ 3.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCSI) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 33.7 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจาก มี.ค. 63 เป็นต้นมา
ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -9.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวแบบชะลอลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีในตลาดค้าปลีกฮ่องกง
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 56.9 จุด ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่ระดับ 55.1 จุดการส่งออกเดือน ต.ค. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าเดือน ต.ค. 63 หดตัวลงร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน\ ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดการนำเข้าสินค้าในหมวดแร่ และสารเคมีลดลง และมีการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียนลดลง ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ต.ค. 63 เกินดุลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 50.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.59 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบเป็นสำคัญ
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด ขณะที่อัตราว่างงานไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -14.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -11.9
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 46.7 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -8.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย. 63 ที่อยู่ที่ร้อยละ -10.7
ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 48.4 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.5 จุด
ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -1.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาหดตัวครั้งแรกนับจาก พ.ค. 63 เป็นต้นมา GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อนหน้า ดุลการค้าเดือน พ.ย. 63 เกินดุลอยู่ที่ 5.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าซึ่งเกินดุลที่ 5.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก พ.ย. 63 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 45.81 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า พ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 39.88 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Markit) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 52.9 จุดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ เม.ย. 63 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในช่วงเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยเพิ่มจากหมวดอาหาร เป็นสำคัญ
ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Markit) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 56.3 จุด ลดลงจาก 57.3 จุดในเดือนก่อนหน้า ดุลการค้า (เบื้องต้น) เดือน พ.ย. 63 ขาดดุลอยู่ที่ -9.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลต่อเนื่องนับจาก ก.ค. 63 เป็นต้นมา ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก พ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -9.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 23.43 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า พ.ย. 63 หดตัวร้อยละ -13.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 33.39 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (Markit) เดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ 53.7 จุด ลดลงจากระดับ 54.1 จุด ในช่วงเดือนก่อนหน้า
GDP ไตรมาสที่ 3 หดตัวที่ร้อยละ -3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -6.4 และหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -4.4 ดัชนีฯ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 55.8 จุด ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด สะท้อนการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรมที่มากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อใหม่ ดัชนีฯ (PMI) ภาคบริการเดือน พ.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 55.1 จุด ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 ที่อยู่ที่ระดับ 53.7 จุด ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน ตอบรับกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด
ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นและช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) JCI (อินโดนีเซีย) PSEi (ฟิลิปินส์)STOXX50E (สหภาพยุโรป) FTSE100 (สหราชอาณาจักร) NASDAQ (สหรัฐอเมริกา) และ S&P (สหรัฐอเมริกา) เป็นต้น ดัชนี SET เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63 ปิดที่ระดับ 1,438.32 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 3 ธ.ค. 63 ที่ 89,935.94 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศ เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่ นักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ และเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 3 ธ.ค. 63 นักลงทุนต่างชาติ ขาย หลักทรัพย์สุทธิ 1,793.69 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลง -2 bps ระยะกลาง (1ปี - 10 ปี) ปรับตัวในช่วง -6 ถึง -1 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวในช่วง -5 ถึง 2 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล อายุ 11 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 2.17 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. - 3 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -2,171.83 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -53,434.08 ล้านบาท
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 3 ธ.ค. 63 เงินบาทปิดที่ 30.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.37 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค อาทิ เงินสกุลยูโร ริงกิต วอน หยวน และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.04 จากสัปดาห์ก่อน
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง